Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

ตุ๋น ต้ม นึ่ง! ผู้ป่วยมะเร็งกินได้แค่นี้ จริงหรือ?

ตุ๋น ต้ม นึ่ง! ผู้ป่วยมะเร็งกินได้แค่อาหารต้ม ๆ นึ่ง ๆ จริงหรือ?

หลายคนคงเคยได้ยินคำแนะนำให้กินอาหารตามหลักสุขภาพแบบ 2-1-1 ซึ่งคือ การแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วน จากนั้นให้กินผัก 2 ส่วนหรือครึ่งจาน ข้าวไม่ขัดสี 1 ส่วนหรือหนึ่งในสี่ของจาน และเนื้อสัตว์ไม่ติดมันอีก 1 ส่วน ซึ่งแนะนำว่าให้ปรุงด้วยการต้ม นึ่ง หรืออบ

เป้าหมายของการแนะนำอาหารแบบนี้ คือ ต้องการจะลดความเสี่ยงจากโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบ้านเรา แต่ผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีรูปร่างผอม เป้าหมายของการกินจะตรงกันข้าม คือ ต้องกินให้พอ คำว่า “พอ” ในที่นี้หมายถึงพลังงานและโปรตีนเพียงพอ เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมร่างกายและเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ ดังนั้น อาหารต้มและนึ่ง ซึ่งมีไขมันน้อย จึงอาจไม่ค่อยเหมาะกับโรคที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนี้

นอกจากนั้นงานวิจัยยังพบว่า ร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งเลือกที่จะใช้ “ไขมัน” เป็นแหล่งพลังงานมากกว่าสารอาหารตัวอื่น หมายความว่า หากยิ่งกินไขมันน้อย จะยิ่งทำให้ร่างกายต้องดึงเอาไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นพลังงาน จนสุดท้ายผู้ป่วยจะมีน้ำหนักลดลงและเกิดภาวะขาดสารอาหารในที่สุด

เพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยมะเร็งที่น้ำหนักลดจึงควรทานอาหารที่มีพลังงานสูง ซึ่งน้ำมันถือว่าตอบโจทย์ เพราะให้พลังงานถึง 9 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 กรัม ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งจึงไม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร แต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมทั้ง “ชนิด” และ “ปริมาณ”

ชนิดของน้ำมันนั้นส่งผลโดยตรงต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ในผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคไขมันหรือหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว เพราะจะทำให้ระดับไขมันเลว (LDL) ในเลือดสูงขึ้น และควรเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงแทน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น

ส่วนปริมาณของน้ำมันก็มีผลต่อร่างกายเหมือนกัน หากผู้ป่วยกินอาหารที่มีน้ำมันมากเกินไปก็จะทำให้กระเพาะบีบตัวช้า ถ้ามีอาการแน่นท้องหรืออิ่มเร็วอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจยิ่งเป็นการซ้ำเติมอาการเหล่านี้ให้แย่ลงไปอีก

นอกจากลักษณะรูปร่างของผู้ป่วยที่ต้องพิจารณาแล้ว ระยะของโรคก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาหายขาดแล้ว และมีรูปร่างท้วมหรืออ้วน ก็ควรกลับไปกินอาหารสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ที่อาจจะตามมาในอีก 10-20 ปีข้างหน้า แต่หากเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หรือรับประทานได้น้อยมาก การจำกัดอาหารอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป ควรให้ผู้ป่วยได้มีอิสระในการใช้ชีวิตของตนเอง บทบาทของบุคลากรทางการแพทย์และญาติ อาจจะเหลือแค่เพียงดูแล “คุณภาพชีวิต” ของผู้ป่วยเท่านั้น


References

1. Arends J, Bachmann P, Baracos V, et al. ESPEN guidelines on nutrition in cancer patients. Clin Nutr. 2017;36(1):11-48.
2. Korber J, Pricelius S, Heidrich M, et al. Increased lipid utilisation in weight losing and weight stable cancer patients with normal body weight. Eur J Clin Nutr. 1999;53:740-5
3. Sacks FM, Lichtenstein AH, Wu JHY, et al. Dietary fats and cardiovascular disease: A presidential advisory from the American Heart Association. Circulation. 2017;136(3):e1-e23

By นพ. ธนน คงเจริญสมบัติ

สาขาที่เชี่ยวชาญ อายุรศาสตร์, โภชนศาสตร์คลินิก