Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

กักตัวไม่กักตุน! อาหารยอดฮิตในช่วงโควิด สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ตอนที่ 1

“โควิดก็น่ากลัว โรคประจำตัวก็น่าห่วง”

ถึงแม้ว่าช่วงนี้ หลายคนจะเป็นกังวลกับโควิดเป็นอย่างมาก แต่อย่าลืมว่า โรคประจำตัวที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกพักงานแต่อย่างใด ยังคง work from home อย่างขะมักเขม้น

และยิ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาอยู่ด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีการดูแลด้านโภชนาการเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ครบตามแผนที่หมอวางเอาไว้ และช่วยลดอาการแทรกซ้อนจากการรักษาได้อีกด้วย

ดังนั้น ในฐานะอีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์อย่างนักกำหนดอาหาร จะขออาสาช่วยสรุป “อาหารยอดฮิตในช่วงกักตัว” ที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง โดยเราจะเน้นไปที่อาหารที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในช่วงนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโภชนาการที่ดีอยู่เสมอ จะมีอาหารอะไรที่จัดว่า “เข้าท่า” และอาหารอะไรที่กินแล้ว “น่าห่วง” ไปดูกันเลย

1) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

อาหารยอดฮิตทุกวิกฤตประเทศ เพราะมีราคาถูก ทำกินเองง่าย และเก็บรักษาได้นาน แต่ถ้าพูดถึงคุณค่าทางอาหารนั้น บอกตามตรงคือน้อยมาก ด้วยความที่ตัวมันไม่มีอะไรนอกจากเส้นบะหมี่ ที่ผ่านกระบวนการขัดสีจนสารอาหารเหลือน้อย จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง ปิดท้ายด้วยผงปรุงรส หรือผงชูรส ดังนั้น สารอาหารทั้งหมดจึงมีแค่คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโซเดียม (ที่สูงมาก) แค่นี้จริง ๆ

แต่เดี๋ยวก่อน! เราพอจะสามารถเพิ่มคุณค่าให้มันได้ โดยการเติมเนื้อสัตว์หรือไข่ และใส่ผักลงไป ก็จะทำให้ได้รับโปรตีน ใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่ เพิ่มมากขึ้น ร่วมกับการใส่ผงปรุงรสให้น้อยลงหรืออย่าซดน้ำจนหมด เพื่อลดโซเดียมลง แค่นี้ก็ทำให้คุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้นแล้ว

สรุป ถ้ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียว คำตอบ คือ น่าห่วง แต่ถ้าเติมเนื้อสัตว์และผัก และลดโซเดียม คำตอบ คือ พอจะเข้าท่า (แต่ไม่ควรกินบ่อยอยู่ดี)

2) ไข่ไก่

อีกหนึ่งอาหารราคาแพง เอ้ย! ถูก ซึ่งผู้ป่วยหลายท่านน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในไข่ขาวนั้นมีกรดอะมิโนจำเป็น (โปรตีน) ครบถ้วน แถมยังย่อยได้ง่าย ส่วนไข่แดงนั้นอุดมไปด้วยไขมัน วิตามิน และเกลือแร่มากมาย จึงไม่แปลกที่หมอหลาย ๆ ท่านจะแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งกินไข่กัน

แต่อีกสิ่งที่ผู้ป่วยมักเป็นกังวลคือ ไข่มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งปัจจุบันมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า

“การกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะกินไข่วันละกี่ฟองก็ได้นะ เพราะข้อสรุปดังกล่าวมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการกินไข่น้อยกว่าไทย และยังไม่มีหลักฐานบอกว่าการกินไข่หลาย ๆ ฟองเป็นเวลานาน ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดยังไงบ้าง

แต่ที่ส่งผลแน่ ๆ คือ วิธีการปรุง โดยเฉพาะการใช้น้ำมันทอด ควรเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง และควรหลีกเลี่ยงน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เพราะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

สรุป ถ้าเป็นไข่แดง กินแค่วันละ 1-2 ฟองก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเป็นไข่ขาวสามารถกินได้เท่าที่ต้องการ เพราะมีคอเลสเตอรอลน้อยมาก และอุดมไปด้วยโปรตีน และควรเลือกใช้น้ำมันในการทอดให้ถูกชนิด ถ้าทำได้ตามนี้บอกเลยว่า กินไข่ ยังไงก็ เข้าท่า!

3) ปลากระป๋อง

เหมือนกับการรีวิวถุงยังชีพเข้าไปทุกที ก่อนอื่นต้องบอกว่าปลากระป๋องเป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนที่คุณภาพดีไม่แพ้กัน เพราะปลากระป๋อง 1 กระป๋องให้โปรตีนประมาณ 15-20 กรัม หรือเทียบกับไข่ประมาณ 2-3 ฟอง

แต่เห็นเป็นปลากระป๋องอย่าได้คิดชะล่าใจ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องระวังอยู่บ้าง โดยหากเป็น

ปลากระป๋องมีหลายแบบ แบบไหนเป็นยังไงบ้างนะ

– ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ พวกนี้มักมีโซเดียมสูง ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้

– ปลากระป๋องในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน พวกนี้เป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งจัดเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าซดหมดก็ไม่ดี (ใครจะไปทำ!)

– ปลากระป๋องในน้ำเกลือ แน่นอนว่า เกลือ = โซเดียม ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดโปรดระวัง และหลีกเลี่ยงการซดน้ำเกลือหมดกระป๋อง (ซึ่งไม่น่ามีคนทำเช่นกัน)

– ปลากระป๋องในน้ำแร่ ไม่มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษ แต่ถ้าจะเอาไปปรุงอาหารที่ใช้น้ำมัน ให้ระวังน้ำมันกระเด็น

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ อาจมีก้อนเนื้อขวางหรือได้รับการฉายแสงบริเวณคอ ส่งผลให้มีอาการกลืนลำบากได้ จึงต้องระวังก้างปลาให้ดี เพราะอาจเกิดอาการสำลัก หรือก้างปลาติดคอ และถ้าอาหารลงปอด อาจทำให้ปอดอักเสบได้

สรุป ปลากระป๋องเป็นอาหารที่ เข้าท่า แต่พยายามอย่ากินซอสเยอะ

สำหรับตอนแรกขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อน แต่ขอบอกว่ายังมีอาหารอีกหลายอย่าง ในตอนหน้าจะมีอาหารอะไรมาพูดคุยให้ฟัง รอติดตามกันได้เลยครับ

By ธนทัต แซ่เล้า

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต โภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย