Categories
เมนูอาหารโรคมะเร็ง

คุกกี้ข้าวโอ๊ต

อาหารว่างโฮมเมดสูตรนี้เป็นอีกหนึ่งเมนูพลังงานสูงที่จะช่วยเติมพลังให้กับทุกท่าน แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะกับผู้ป่วย แต่คุกกี้สูตรนี้มีพลังงานสูง สารอาหารเต็มเปี่ยม มีใยอาหารจากข้าวโอ๊ตและลูกเกด สามารถทานได้อย่างสบายใจ เหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย

พลังงานคาร์บโปรตีนไขมัน
140 kcal17.8 g2.1 g6.7 g
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 ชิ้น

ส่วนผสม (Ingredients)

(สำหรับคุกกี้ ประมาณ 25 ชิ้น)

  1. ข้าวโอ๊ต 250 กรัม
  2. แป้งสาลีอเนกประสงค์ 100 กรัม
  3. ลูกเกด 100 กรัม
  4. น้ำตาลทรายป่น 125 กรัม        
  5. ไข่ไก่ 1 ฟอง
  6. เนยรำข้าว 150 กรัม
  7. เบกกิ้งโซดา ครึ่งช้อนชา
  8. เกลือป่น ครึ่งช้อนชา
  9. ผงอบเชย ครึ่งช้อนชา
  10. กลิ่นวนิลา ครึ่งช้อนชา

วิธีการทำ (Preparation)

  1. นำลูกเกดแช่น้ำร้อนทิ้งไว้ 10 นาที และอุ่นเตาอบไว้ที่อุณหภูมิ 175 องศาเซลเซียส
  2. เตรียมของแห้ง โดยเริ่มจากผสมข้าวโอ๊ต เบกกิ้งโซดา ผงอบเชยและเกลือเข้าด้วยกัน
  3. ร่อนแป้งเอนกประสงค์ตามลงไปในส่วนผสมแห้งและวางพักไว้
  4. ตีเนยรำข้าวและน้ำตาลให้ขึ้นฟู (สังเกตได้โดยสีของเนยจะเริ่มอ่อนลง)
  5. ใส่ไข่และกลิ่นวานิลลา ลงในส่วนผสมเนยที่ขึ้นฟูแล้ว ก่อนจะตีต่อให้เข้ากัน
  6. แบ่งของแห้ง (แป้ง ข้าวโอ๊ต ลูกเกด) เป็นสามส่วน และค่อยๆใส่ลงไปผสมกับเนยที่ตีไว้จนเป็นเนื้อเดียวกัน
  7. แบ่งส่วนผสมใส่ถาดอบเป็นลูกกลมขนาดประมาณหนึ่งนิ้ว และเว้นระยะห่างระหว่างชิ้นประมาณหนึ่งนิ้ว
  8. นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 175 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที
  9. เมื่อเริ่มสุกคุกกี้จะเริ่มแบนลงและแผ่ออก ในขั้นตอนนี้การวางแต่ละชิ้นใกล้กันมากเกินไป คุกกี้อาจจะติดกันได้
  10. นำคุกกี้ออกมาพักบนตะแกรงให้เย็นและพร้อมรับประทาน

เมนูนี้มีดีอะไร

คุกกี้แบบนิ่มสูตรนี้มีส่วนผสมหลักคือข้าวโอ๊ต ซึ่งมีใยอาหารที่ละลายน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ ด้านนอกกรอบเล็กน้อย และเนื้อสัมผัสด้านในจะค่อนข้างนิ่ม ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเคี้ยวและกลืน เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านการเคี้ยว นอกจากนี้ยังสามารถทานคู่กับนม เป็นอาหารมื้อว่าง โดยสามารถนำคุกกี้ไปแช่ในนมสักครู่เพื่อทำให้คุกกี้นิ่มมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

คุกกี้นี้เป็นอาหารว่างที่ให้พลังงานได้สูงและมีประโยชน์ก็จริง แต่ถ้าทานมากเกินไปจะกระทบต่อความอยากอาหารในมื้อหลักได้ แนะนำให้ทานครั้งละ 1 – 2 ชิ้น พร้อมกับเครื่องดื่มที่จำพวกนม หรือ อาหารทางการแพทย์หนึ่งแก้ว (ประมาณ 230 มล.) สำหรับมื้อว่างค่ะ

เนยชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบอาหารก็เป็นอีกหนึ่งส่วนผสมที่มีไขมันสูง ในการเลือกซื้อนั้น ควรอ่านฉลากโภชนาการเพื่อประเมินถึงปริมาณและชนิดของไขมัน โดยเลือก ชนิดที่มีไขมันอิ่มตัวน้อยที่สุด จะเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า

สร้างสรรค์เมนูโดย พรรณอร เก็บสมบัติ

By พิชชา วระพงษ์สิทธิกุล

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
M.S., Agricultural and Life Sciences, The University of Tokyo.