Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

ชาร้อนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร

ชาเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคทั่วโลก ซึ่งได้มาจากยอดอ่อน ใบ หรือก้านของต้นชามีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Camellia sinensis โดยประเภทของชาขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการแปรรูป เช่น ชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาดำ ชาแดง จากการรวบรวมศึกษาพบว่า การบริโภคชาส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการเช่น ประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และ สารในกลุ่มสารประกอบพอลิฟีนอล (polyphenolic compounds) โดยเฉพาะสารคาเทชิน (catechins) ในชาเขียว และสารทีเอฟลาวิน (theaflavins) ในชาดำสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ (​1​) อย่างไรก็ตามถ้าหากเราดื่มชาที่ร้อนเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร

ชาร้อนจัดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร

จากการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (systematic review) พบว่า การดื่มชามีความสัมพันธ์น้อยกับการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร แต่ในกรณีที่บริโภคชาร้อนในปริมาณมาก กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (2​) งานวิจัยเชิงวิเคราะห์ ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2560 ติดตามอาสาสมัครจำนวน 50,045 คน ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 75 ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี พบว่าผู้ที่ชอบดื่มชาร้อนจัด (อุณหภูมิสูงกว่า 60 °C หรือ 140 °F) ในปริมาณมากกว่า 700 มิลลิลิตรต่อวัน (ประมาณ 2 แก้วใหญ่) มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลอดอาหารชนิด squamous cell carcinoma เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 90  และยังมีงานวิจัยพบว่าการดื่มชาร้อนอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาน้อยกว่า 2 นาที เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน (​3​)

ทำไมการดื่มชาร้อนจึงทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหาร

กลไกการเกิดมะเร็งหลอดอาหารจากการดื่มชาร้อน อาจมาจากอุณหภูมิที่สูงจนมีการทำลายเยื่อบุหลอดอาหารโดยตรง ทำให้สารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น สารก่อมะเร็งเหล่านี้ ได้แก่ แอลกอฮอล์ บุหรี่ N-nitroso compounds และ polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) (​4) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับดีเอ็นเอโดยตรงได้ (​5​) สำหรับกลไกที่แน่ชัดของความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชาร้อนและการเกิดมะเร็งหลอดอาหารยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

การดื่มเครื่องดื่มร้อนประเภทอื่น ๆ จะเสี่ยงไหม

นอกจากชาร้อน การดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเช่น น้ำร้อน กาแฟร้อน และช็อคโกแลตร้อนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ (6) โดยพบว่าอุณหภูมิของเครื่องดื่มที่มากกว่า 65 – 70 °C ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร (​7,8​) นอกจากนี้ภาชนะพลาสติกและโฟมที่ใส่ของร้อน เมื่อถูกความร้อนสูงๆ จะทำให้สารก่อมะเร็งออกมาปนเปื้อนในอาหาร เช่น styrene monomer ในแก้วที่ใส่กาแฟร้อน และ vinyl chloride monomer ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเช่นกัน (​9​)

บทสรุป

สำหรับการดื่มชาร้อนควรจะรอจนกว่าเครื่องดื่มนั้นจะเย็นลง จนอุณหภูมิประมาณ 55 – 60 °C  ก่อนจึงดื่ม ผู้ที่ชอบดื่มชาร้อนควรลดปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เพิ่มการเกิดมะเร็ง โดยลดการรับประทานอาหารบางชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เลิกสูบบุหรี่ จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเปลี่ยนภาชนะเป็นแก้วแทนการใช้พลาสติกหรือโฟมในการใส่ของร้อน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน

By ธนภรณ์ ปานดวง

วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย