Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

เป็นมะเร็งกินเนื้อสัตว์ได้ไหม

ผู้ป่วยมะเร็งหลายคน มีความเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ทำให้มะเร็งโตเร็วขึ้น จึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์​ ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ สูญเสียกล้ามเนื้อ ไม่มีแรงและไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาได้

จริงอยู่ที่ว่ามีการศึกษาวิจัยในประชากรทั่วไป (ที่ยังไม่ได้เป็นมะเร็ง) พบว่าเนื้อสัตว์บางอย่างเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป (ไส้กรอก เบคอน แฮม เนื้อรมควัน) เนื้อแดง (เนื้อวัว หมู แพะ แกะ ม้า) และปลาเค็มสไตล์กวางตุ้ง ดังนั้นในประชากรทั่วไปแนะนำให้พยายามลดการรับประทานเนื้อสัตว์เหล่านี้

เนื้อสัตว์ความเสี่ยง
เนื้อแปรรูป↑มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.16 เท่า
ต่อ 50 กรัมที่เพิ่มขึ้น
เนื้อแดง↑มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.12 เท่า
ต่อ 100 กรัมที่เพิ่มขึ้น
ปลาเค็ม
(Cantonese style)
↑มะเร็งโพรงหลังจมูก 1.31 เท่า
ต่อ 1 ส่วนที่เพิ่มขึ้น
Source: WCRF Report 2018

เนื้อสัตว์เหล่านี้ เชื่อว่ากระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้เนื่องจากมีสารก่อมะเร็งเช่น N-nitroso compounds ที่เกิดจากไนไตรท์ (nitrite) ที่ใช้ถนอมอาหารทำปฏิกิริยากับกรดอะมิโนในเนื้อสัตว์ หรือสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) และ Heterocyclic Amines (HCAs) ที่เกิดจากไขมันและโปรตีนในเนื้อสัตว์สัมผัสกับความร้อนสูงมากระหว่างการเตรียม

“อย่างไรก็ตาม กลไกการกระตุ้นให้เกิดมะเร็งกับการโตของมะเร็งในผู้ป่วยนั้นแตกต่างกัน จึงไม่สามารถสรุปเอาได้ว่ากินเนื้อสัตว์เหล่านี้ ทำให้มะเร็งโตขึ้น”

“ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการกินเนื้อสัตว์ทำให้มะเร็งโตเร็ว”

ที่สำคัญ ผู้ป่วยมะเร็งมีความต้องการโปรตีนสูงกว่าคนปกติ เกือบสองเท่า (1.2-2.0 กรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน) การงดรับประทานเนื้อสัตว์ไปเลยอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ

โดยสรุปผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ โดยสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ตามปกติ เน้นปลา ไก่ ไข่ ถ้าทำได้ให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป และเนื้อแดง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งชนิดอื่นๆในอนาคต แต่ถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้วจะรับประทานอะไรก็ได้ขอให้มีความสุขเป็นพอ

By นพ. ธนน คงเจริญสมบัติ

สาขาที่เชี่ยวชาญ อายุรศาสตร์, โภชนศาสตร์คลินิก