Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

อาหารปั่นผสม กับ อาหารทางการแพทย์

Hilight

  • ผู้ป่วยมะเร็งที่กินได้น้อย แพทย์อาจจะแนะนำให้ใส่สายยางเพื่อให้อาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน และแข็งแรงเร็ว
  • อาหารเหลวที่ใช้ป้อนทางสายยาง มีสองชนิดใหญ่ๆ คือ อาหารปั่นผสม และอาหารทางการแพทย์ ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักความเหมือนที่แตกต่างของอาหารทั้งสองแบบนี้ครับ

อาหารปั่นผสม (Blenderized Diet) หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บีดี เป็นการนำเอาอาหารสดมาทำให้สุก จากนั้นจึงทำการ “ปั่นผสม” รวมกันเป็นเนื้อเดียว

อาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) เป็นอาหารที่ถูกดัดแปลงสารอาหารให้เหมาะสมกับโรค ของผู้ป่วย มักอยู่ในรูปแบบผงหรือของเหลว

ทั้งอาหารปั่นผสมและอาหารทางการแพทย์เหมือนกันตรงที่ เป็นการเปลี่ยนลักษณะอาหารจากของแข็งให้กลายเป็นของเหลว เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาบริเวณช่องปากและลำคอ รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสาย สามารถกินอาหารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยมะเร็ง สามารถใช้ดื่มเสริมทางปาก เพื่อเพิ่มพลังงานและสารอาหารให้กับร่างกายได้

ถึงแม้ว่าอาหารทั้งสองชนิดจะมีความเหมือนกันในแง่ของจุดประสงค์ในการใช้งาน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

1. ความสะดวก

อาหารปั่นผสมจำเป็นต้องมีการชั่งตวงวัตถุดิบให้ “เป๊ะ” เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน และใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน แต่อาหารทางการแพทย์มีความสะดวกมากกว่า เพราะสามารถชงกับน้ำสะอาดแล้วใช้ได้ทันที

2. ความสะอาด

อาหารปั่นผสม ใช้วัตถุดิบสดจึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคมาจากแหล่งผลิตถ้าเตรียมไม่เหมาะสม แต่อาหารทางการแพทย์ถูกฆ่าเชื้อแล้วบรรจุในภาชนะปิดจึงมีโอกาสปนเปื้อนน้อยกว่า อย่างไรก็ตามถ้ารักษาความสะอาดและเตรียมอย่างเหมาะสม อาหารทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยเหมือนกัน

3. ระยะเวลาการแขวน

อาหารปั่นผสม เมื่อนำออกจากตู้เย็นแล้วควรกินหรือให้ทางสายให้หมดภายใน 2 ชม. ในขณะที่อาหารทางการแพทย์จะมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 4 ชม.​

4. ความครบถ้วนของสารอาหาร

อาหารปั่นผสมจะมีการสูญเสียวิตามินและแร่ธาตุไปในขั้นตอนการล้างและการต้ม (ดังนั้นแพทย์จึงอาจจะสั่งวิตามินเสริม) ซึ่งต่างจากอาหารทางการแพทย์ที่ไม่มีการสูญเสียสารอาหารไปจากการชง และมักมีวิตามินและเกลือแร่ครบถ้วน เมื่อได้รับเกิน 1,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

5. ความเหมาะสมกับโรค

ทั้งอาหารปั่นผสมและอาหารทางการแพทย์สามารถปรับเปลี่ยนสูตรให้เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วยได้ แต่อาหารทางการแพทย์จะมีข้อได้เปรียบตรงที่มักมีการเติมสารอาหารพิเศษบางชนิด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยบางโรค และบางสูตรมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารอาหาร เพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการย่อยและการดูดซึมโดยเฉพาะ

6. ราคา

โดยส่วนมากอาหารทางการแพทย์มักมีราคาสูงกว่าอาหารปั่นผสม และจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปตามสารอาหารที่เติมลงไปหรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารอาหารตามข้อที่แล้ว 

โดยสรุป หากอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกำหนดอาหาร ทั้งอาหารปั่นผสมและอาหารทางการแพทย์สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารได้เพียงพอเช่นเดียวกัน เพียงแค่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแล โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยให้มากที่สุด

[เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.นพ.ปราการ ธานี]

By ธนทัต แซ่เล้า

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต โภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย