ความชื่นชอบของมนุษย์ที่มีต่ออาหารรสหวานนั้นมีมาตั้งแต่กำเนิด และมีการศึกษาได้พิสูจน์แล้วว่าทารกแรกเกิด ๆ จะชอบรสหวานมากว่ารสชาติพื้นฐานอื่น ๆ (1) ดังนั้นมนุษย์จึงเติมสารหวานลงในอาหารอยู่เสมอ สารให้ความหวานชนิดแรกที่ถูกบันทึกไว้ คือ น้ำผึ้ง ซึ่งใช้ในวัฒนธรรมโบราณของกรีกและจีน ต่อมาน้ำผึ้งถูกแทนที่ด้วยแซคคาโรส (saccharose) ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายที่ทำมาจากอ้อย และน้ำตาลเทียมชนิดแรก คือ แซคคาริน (saccharin) หรือ ขัณฑสกร ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1879 โดย Remsen และ Fahlberg และยังเป็นที่ยอมรับกันมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำตาลทราย (2)
ผู้บริโภคบางคนมีความรู้สึกกังวล ว่าน้ำตาลเทียมมีอันตรายหรือมีผลข้างเคียงหรือไม่ เนื่องจากเคยได้ยินมาว่าน้ำตาลเทียมทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง วันนี้เรามาหาคำตอบกันค่ะว่า การรับประทานน้ำตาลเทียมเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง จริงหรือไม่ ?
น้ำตาลเทียมคืออะไร
น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล คือวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้แทนน้ำตาล เพื่อทดแทนความหวาน น้ำตาลเทียมมักมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายหลายเท่า จึงสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยกว่ามาก เพื่อสร้างความหวานในระดับเดียวกัน (3)
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีอะไรบ้าง
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีใช้ในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (ให้พลังงานแก่ร่างกายแต่น้อยกว่าน้ำตาลปกติ) และชนิดที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (ไม่ให้พลังงาน)
1. สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
สารให้ความหวานเหล่านี้ ได้แก่ น้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น ซอร์บิทอล (sorbitol), แมนนิทอล (mannitol), ไซลิทอล (xylitol), ไอโซมอลต์ (isomalt), มาลิทอล (malitol), แลคติทอล (lactitol), และทากาโลส (tagalose) ซึ่งสารให้ความหวานประเภทน้ำตาลแอลกอฮอล์นี้ จะให้พลังงานประมาณ 50-60% ของน้ำตาลปกติ หรือ 2 กิโลแคลอรี/กรัม
2. สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ
สารให้ความหวานกลุ่มนี้ มี 8 ชนิด ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ยอมรับให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยมีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่สามารถรับประทานได้ต่อวัน เรียกว่า acceptable daily intake levels (ADI) ได้แก่ แซคคาริน (saccharin), แอสพาร์แทม (aspartame), ซูคราโลส (sucralose), อะซิซัลเฟม เค(acesulfame K), นีโอเทม (neotame), แอดแวนเทม (advantame), สตีเวียหรือสารสกัดจากหญ้าหวาน (stevia), และหล่อฮังก๊วย (luo han guo)
ชนิดของน้ำตาลเทียม | ความหวาน (เท่าของน้ำตาล) | ADI* mg/kg BW | การใช้ในการอาหาร | ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่าย ในประเทศไทย |
Saccharin | 200-700 | 15 | จำกัดปริมาณ < 12 mg / oz ในเครื่องดื่ม จำกัด 20 mg/serving ใน แต่ละบรรจุภัณฑ์ หรือ 30 mg/serving ในอาหารแปรรูป คงตัวต่อความร้อนสูง | Sweet’n low® |
Aspartame | 200 | 50 | ใช้ได้ในอาหารทั่วไป ไม่คงตัวต่อความร้อนสูง | Equal® Slimma® Sweet diet® Lite Sugar® |
Sucralose | 600 | 5 | ใช้ได้ในอาหารทั่วไป เช่นทำอาหาร หรือ ขนมอบ คงตัวต่อความร้อนสูง | D-et® Fitne sweet Sucralose ® Truslen® Kontrol® Lin Half BakerySugar® |
Acesulfame K | 200 | 15 | ใช้ได้ในอาหารทั่วไป ยกเว้น เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก สามารถใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ได้ คงตัวต่อความร้อนสูง | Sweet Tasty® |
Neotame | 7,000-13,000 | 0.3 | ใช้ได้ในอาหารทั่วไป ยกเว้น เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก และใช้ในการแปรรูปอาหาร คงตัวต่อความร้อนสูง | – |
Advantame | 20,000 | 32.8 | ใช้ได้ในอาหารทั่วไป ยกเว้น เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก คงตัวต่อความร้อนสูง | – |
Stevia | 200-400 | 4 | ใช้ได้ในอาหารทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ซีเรียล energy bars และเครื่องดื่ม รวมถึงใช้เป็นสารให้ความหวานบนโต๊ะอาหารได้ | Kontrol® GreenSweet® PurVia® Equal® Fitne sweet Stevia® BiorichSweet® |
Luo han guo extract | 100-250 | ไม่มีการกำหนดค่า | สามารถใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ใช้เป็นสารให้ความหวานบนโต๊ะอาหารได้ และสามารถใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ได้ | – |
ข้อมูลดัดแปลงจากเอกสารอ้างอิง 5, 15
น้ำตาลเทียมทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่
ข้อมูลอัพเดท เดือนกรกฎาคม 2566
องค์การอนามัยโลกเตรียมบรรจุ แอสปาร์แทมเป็นสารที่อาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์ หลังจากมีการทบทวนงานวิจัยใหม่
การศึกษาในช่วงแรกๆ พบว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิด เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ (3,4) อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาในช่วงหลังกลับพบว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสารเหล่านี้ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งในมนุษย์ (5) และยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าผลการทดลองในหนู ใช้ไม่ได้กับมนุษย์ เนื่องจากในมนุษย์และหนูทดลองมีกลไกการเกิดมะเร็งที่แตกต่างกัน (6,7)
งานวิจัยของน้ำตาลเทียมแต่ละชนิดกับโรคมะเร็ง
ขัณฑสกร (Saccharin)
จากการศึกษาในหนูทดลอง พบว่าหนูที่ได้รับขัณฑสกรในปริมาณสูง สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยเฉพาะหนูเพศผู้ (3,4,6) แต่จากทบทวนการศึกษาวิจัยต่าง ๆ พบว่ายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่บอกได้ว่าการบริโภคขัณฑสกรจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์
อย่างไรก็ตามการใช้ขัณฑสกรในสตรีมีครรภ์ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากมีบางการศึกษาพบว่า ขัณฑสกรผ่านรกเข้า ไปในเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้ในสตรีมีครรภ์ (3,5)
ไซคลาเมต (Cyclamate)
มีการศึกษาวิจัยพบว่า การบริโภค ไซคลาเมต อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะได้ในหนูทดลอง จากการวิจัยนั้นพบว่า
ไซคลาเมตอาจถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียในลำไส้ได้ เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งซึ่งจะตรวจพบได้ในปัสสาวะหลังจากการบริโภคไซคลาเมต (3,4,8)
ในปี ค.ศ.1970 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศห้ามใช้สารนี้เพื่อการบริโภค (9)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1982 FDA และ WHO ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม และได้ข้อสรุปว่าไซคลาเมตไม่ใช่สารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตามไซคลาเมตยังเป็นสิ่งต้องห้ามในหลายๆ ประเทศ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ(3,4) สำหรับประเทศไทยนั้น ไซคลาเมตยังคงเป็นสารที่ห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย นำเข้า หรือใช้ในอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
แอสพาร์แทม (Aspartame)
การศึกษาในปี ค.ศ. 2005 พบว่า แอสพาร์แทม (ในปริมาณที่สูงมาก) อาจทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนู (10) แต่หลังจากตรวจสอบการศึกษาแล้ว FDA ได้พบข้อบกพร่องหลายประการ (11) ในปี ค.ศ. 2006 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute, NCI) ได้ตรวจสอบข้อมูลในมนุษย์ จาก NIH-AARP Diet and Health Study ของผู้เกษียณอายุจำนวนกว่าครึ่งล้านคน พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่ผสมแอสพาร์แทม ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งทั้ง 3 ชนิด คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งสมองแต่อย่างใด (12) ทำให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศข้อสรุปว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่าง แอสพาร์แทม และการเกิดมะเร็งชนิดใด ๆ ในมนุษย์ (13)
ซูคราโลส (Sucralose)
ซูคราโลส ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางและองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ทบทวนการศึกษาทางด้านความปลอดภัยมากกว่า 110 การศึกษา เพื่อสนับสนุนการอนุมัติการใช้ซูคราโลส เป็นสารให้ความหวานในอาหารทั่วไป
ในปี ค.ศ. 2016 มีการรายงานว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นของเนื้องอกในเม็ดเลือดในหนูตัวผู้ที่บริโภคซูคราโลส ในปริมาณสูง (14) แต่หลังจากตรวจสอบการศึกษาแล้ว FDA ได้พบข้อบกพร่องของการศึกษาดังกล่าวหลายประการ
อะซิซัลเฟม เค (Acesulfame K)
องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา สรุปข้อมูลที่มีการทดลองทั้งในคนและสัตว์ทดลอง มากกว่า 90 การศึกษา ยังไม่พบอันตรายใด ๆ สารอะซิซัลเฟม เค สามารถใช้ได้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria) (15)
นีโอเทม (Neotame)
จากข้อสรุปขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา โดยการทบทวนข้อมูลการทดลองทั้งในคนและสัตว์มากกว่า 113 การศึกษา ไม่พบอันตรายใด ๆ ในคนที่ได้รับนีโอเทม (15)
แอดแวนเทม (Advantame)
จากข้อสรุปขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาโดยสรุปจากข้อมูลที่มีการทดลองทั้งในคนและสัตว์ทดลองมากถึง 37 การศึกษา ไม่พบอันตรายใด ๆ ในคนที่ได้รับแอดแวนเทม (15)
สารสกัดจากหญ้าหวาน (Steviol glycosides)
สารสกัดจากหญ้าหวาน (steviol glycosides) เป็นสารสกัดจากใบของพืช Stevia rebaudiana Bertoni (ไม่ควรสับสนกับใบหญ้าหวาน) หญ้าหวานได้ผ่านการรับรองโดย FDA ว่าสามารถเติมลงในอาหารได้อย่างปลอดภัย (generally recognized as safe; GRAS) ในปี ค.ศ. 2008
นอกจากจะไม่พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งแล้ว นักวิจัยยังพบว่า อนุพันธ์ของสตีวิออลไกลโคไซด์ (steviol glycoside derivatives) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (16) และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร (17,18) อย่างไรก็ตามงานวิจัยเกี่ยวกับหญ้าหวานยังมีอยู่อย่างจำกัด และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
หล่อฮังก๊วย (Luo han guo)
Mogrosides (triterpene glycosides) เป็นสารให้ความหวานที่สกัดได้จากผลหล่อฮังก๊วย (Siraitia grosvenorii) ซึ่งเป็นผลไม้ในประเทศจีนและมักใช้เป็นยาพื้นบ้าน สารสกัดจากหล่อฮังก๊วยได้รับการรับรองจาก FDA ว่าสามารถเติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย (GRAS) เช่นเดียวกับหญ้าหวาน
บทสรุป
การใช้น้ำตาลเทียมทั้ง 8 ชนิดที่ได้รับการรับรองจาก FDA ในปัจจุบันพบว่าสามารถใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้อย่างปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง อย่างไรก็ตามควรรับประทานในปริมาณไม่เกินค่า ADI ที่กําหนดสําหรับนน้ำตาลเทียมแต่ละชนิด เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อสุขภาพ