Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

น้ำมันปลากับโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและไขมันเนื่องจากมีการอักเสบในร่างกาย กรดไขมันโอเมกา-3 ที่พบในปลาทะเล มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ และอาจช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรคมะเร็งได้

ผู้ป่วยมะเร็งทำไมจึงผอม

ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกในผู้ป่วยมะเร็ง (cancer cachexia) คือ การที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักที่ลดลงมากกว่า 5% จากน้ำหนักเดิม หรือลดลดมากกว่า 2% ในผู้ที่มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20 kg/m2 หรือผู้ที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia) อยู่ก่อน (1) ซึ่งภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกนี้ เกิดจากการอักเสบในร่างกาย เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีการหลั่งสารอักเสบต่าง ๆ เช่น TNF-⍺, IL-1 และ IL-6 ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานเพิ่มมากขึ้น มีความอยากอาหารลดลง มีการสลายของมวลกล้ามเนื้อและมวลไขมันเพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยได้รับพลังงานและโปรตีนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรักษา เช่น มีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น และมีภาวะแทรกซ้อนจากยาเคมีบำบัดมากขึ้น (2)

กรดไขมันโอเมกา-3 คืออะไร

กรดไขมันโอเมกา-3 เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยจัดอยู่ในกลุ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid; PUFA) ประกอบไปด้วย eicosapentaenoic acid (EPA) และ docosahexaenoic acid (DHA)  ซึ่งมักพบได้ในปลาทะเล นอกจากนี้ยังมีกรดไขมัน α-linolenic (ALA) ซึ่งได้ในน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์, น้ำมันวอลนัท, น้ำมันคาโนลา เป็นต้น EPA และ DHA บางส่วนยังสามารถสร้างขึ้นจาก ALA ในร่างกายได้ แต่กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นได้น้อยกว่า 10% ดังนั้น จึงควรบริโภคอาหารที่เป็นแหล่งของ EPA และ DHA โดยตรง  (3,4)

กรดไขมันโอเมกา-3 มีประโยชน์อย่างไร

การศึกษาพบว่า EPA และ DHA มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดการอักเสบ แต่ EPA และ DHA สามารถเข้าทำปฏิกิริยาแบบแข่งขัน จึงทำให้เกิดการสร้างสารต้านการอักเสบแทน เช่น prostaglandin E3, thromboxane B3 และ leukotriene B5 ดังนั้น EPA และ DHA ที่พบในน้ำมันปลาจึงสามารถช่วยลดภาวะการอักเสบในร่างกายได้ (5,6)

ปัจจุบันมีการนำกรดไขมันโอเมกา-3 มาใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็ง ดังนี้

  1. ผู้ป่วยมะเร็งที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด พบว่ากรดไขมันโอเมกา-3 สามารถช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและช่วยคงน้ำหนักตัวได้ ซึ่งปริมาณที่แนะนำคืออย่างน้อย 2 กรัม/วัน (2)
  2. ผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ รวมถึงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนต้น ที่จะได้รับการผ่าตัด พบว่า กรดไขมันโอเมกา-3 ร่วมกับสารอาหารที่มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (immunonutrients) ชนิดอื่นๆ สามารถช่วยลดการติดเชื้อหลังผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อน และช่วยลดระยะเวลาการนอนรักษาในโรงพยาบาลได้ โดยแนะนำให้รับประทาน 5-7 วัน ก่อนและหลังผ่าตัด (7)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะต้องได้รับพลังงานและโปรตีนที่เพียงพอกับร่างกายด้วย จึงจะเกิดประโยชน์และสามารถลดภาวะแทรกซ้อนได้

แหล่งอาหารที่พบ EPA และ DHA

EPA และ DHA นอกจากจะพบได้ในปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาบะ ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีนแล้ว ยังสามารถพบได้ในปลาไทยบางชนิด เช่น ปลาทู ปลาสวาย เป็นต้น

ตารางแสดงปริมาณกรดไขมันโอเมกา-3 ในแหล่งอาหารต่าง ๆ (8,9)

แหล่งอาหาร
(ปริมาณต่อ 100 กรัม)
EPA (mg)DHA (mg)
ปลาแซลมอน (หัว)1,2351,629
ปลาแซลมอน (เนื้อ)1,008944
ปลาซาบะ8661,682
ปลาแมคเคอเรล7701,246
ปลาทู 636778
ปลาซาร์ดีน 473509
ปลาสวาย3101,286

โดยทั่วไป สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (AHA) แนะนำให้บริโภคปลาทะเลอย่างน้อย 2 ส่วน/สัปดาห์ หรือประมาณ 200 กรัม/สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ในกรณีของภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกจากมะเร็ง ถ้าต้องการเสริมกรดไขมันโอเมกา-3 ถ้าได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ สามารถรับประทานอาหารทางการแพทย์ที่มีส่วนประกอบของ EPA ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักและมวลกล้ามเนื้อในผู้ป่วยมะเร็งได้

ข้อควรระวัง

สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟาริน (warfarin) ไม่ควรเสริมกรดไขมันโอเมกา-3 เพราะจะทำให้เสริมการออกฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน (10) หน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority; EFSA) ได้รายงานไว้ว่าสามารถบริโภค EPA และ DHA รวมกันได้ไม่เกิน 5 กรัม/วัน (11)

บทสรุป

กรดไขมันโอเมกา-3 สามารถช่วยลดภาวะการอักเสบ เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และทำให้น้ำหนักตัวในผู้ป่วยมะเร็งคงที่ได้ โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับพลังงานและโปรตีนที่เพียงพอด้วย เพื่อช่วยลดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งโภชนาการที่ดีสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา และลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลได้

By เพ็ญพิชชา ปานเปรม

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต โภชนวิทยาและการกำหนดอาหาร
มหาวิทยาลัยมหิดล