ชาเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคทั่วโลก ซึ่งได้มาจากยอดอ่อน ใบ หรือก้านของต้นชามีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Camellia sinensis โดยประเภทของชาขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการแปรรูป เช่น ชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาดำ ชาแดง จากการรวบรวมศึกษาพบว่า การบริโภคชาส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการเช่น ประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และ สารในกลุ่มสารประกอบพอลิฟีนอล (polyphenolic compounds) โดยเฉพาะสารคาเทชิน (catechins) ในชาเขียว และสารทีเอฟลาวิน (theaflavins) ในชาดำสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ (1) อย่างไรก็ตามถ้าหากเราดื่มชาที่ร้อนเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร
ชาร้อนจัดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร
จากการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (systematic review) พบว่า การดื่มชามีความสัมพันธ์น้อยกับการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร แต่ในกรณีที่บริโภคชาร้อนในปริมาณมาก กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (2) งานวิจัยเชิงวิเคราะห์ ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2560 ติดตามอาสาสมัครจำนวน 50,045 คน ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 75 ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี พบว่าผู้ที่ชอบดื่มชาร้อนจัด (อุณหภูมิสูงกว่า 60 °C หรือ 140 °F) ในปริมาณมากกว่า 700 มิลลิลิตรต่อวัน (ประมาณ 2 แก้วใหญ่) มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลอดอาหารชนิด squamous cell carcinoma เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 90 และยังมีงานวิจัยพบว่าการดื่มชาร้อนอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาน้อยกว่า 2 นาที เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน (3)
ทำไมการดื่มชาร้อนจึงทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหาร
กลไกการเกิดมะเร็งหลอดอาหารจากการดื่มชาร้อน อาจมาจากอุณหภูมิที่สูงจนมีการทำลายเยื่อบุหลอดอาหารโดยตรง ทำให้สารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น สารก่อมะเร็งเหล่านี้ ได้แก่ แอลกอฮอล์ บุหรี่ N-nitroso compounds และ polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) (4) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับดีเอ็นเอโดยตรงได้ (5) สำหรับกลไกที่แน่ชัดของความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชาร้อนและการเกิดมะเร็งหลอดอาหารยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
การดื่มเครื่องดื่มร้อนประเภทอื่น ๆ จะเสี่ยงไหม
นอกจากชาร้อน การดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเช่น น้ำร้อน กาแฟร้อน และช็อคโกแลตร้อนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ (6) โดยพบว่าอุณหภูมิของเครื่องดื่มที่มากกว่า 65 – 70 °C ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร (7,8) นอกจากนี้ภาชนะพลาสติกและโฟมที่ใส่ของร้อน เมื่อถูกความร้อนสูงๆ จะทำให้สารก่อมะเร็งออกมาปนเปื้อนในอาหาร เช่น styrene monomer ในแก้วที่ใส่กาแฟร้อน และ vinyl chloride monomer ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเช่นกัน (9)
บทสรุป
สำหรับการดื่มชาร้อนควรจะรอจนกว่าเครื่องดื่มนั้นจะเย็นลง จนอุณหภูมิประมาณ 55 – 60 °C ก่อนจึงดื่ม ผู้ที่ชอบดื่มชาร้อนควรลดปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เพิ่มการเกิดมะเร็ง โดยลดการรับประทานอาหารบางชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เลิกสูบบุหรี่ จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเปลี่ยนภาชนะเป็นแก้วแทนการใช้พลาสติกหรือโฟมในการใส่ของร้อน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน