Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

การดื่มกาแฟกับโรคมะเร็ง

ในปี 2561 ศาลในแคลิฟอร์เนียได้ตัดสินว่ากาแฟที่ขายในอเมริกานั้น ควรจะต้องมีสัญลักษณ์เตือนว่ามีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งด้วย เนื่องจากผลการศึกษาที่เจอสาร “อะคริลาไมด์ (acrylamide)” ในกาแฟ การดื่มกาแฟทำให้เป็นมะเร็งหรือไม่มาหาคำตอบกันค่ะ

วันดี ๆ เริ่มต้นได้ไม่ยากที่ด้วยกาแฟที่ดีซักแก้ว กาแฟนับเป็นเครื่องดื่มที่จำเป็นในยามเช้าของใครหลายคน เสมือนเป็นนาฬิกาปลุกให้กับร่างกายและสมองของเราให้พร้อมกับวันใหม่ หรืออาจจะเป็นเครื่องดื่มยามบ่ายของวันหยุดในขณะที่เรานั่งพักผ่อนในร้านกาแฟ แต่คอกาแฟทั้งหลายก็อาจจะต้องตกใจเมื่อได้ยินข่าวจากทางอเมริกาเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาว่าการดื่มกาแฟอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง

อะคริลาไมด์ สารก่อมะเร็งที่พบในกาแฟ

สถาบันวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาในสัตว์พบว่า อะคริลาไมด์ อาจจะ เป็นหนึ่งใน carcinogen หรือ สารก่อมะเร็งได้ โดยปกติจะพบสารนี้ได้ในผลิตภัณฑ์เช่น พลาสติก กระดาษ หรือกาวต่าง ๆ และควันโดยเฉพาะควันบุหรี่ แต่สาร acrylamide ก็สามารถพบได้จากอาหารที่ผ่านกระบวนการที่มีความร้อนสูง การอบ หรือการทอด เช่น กาแฟที่ผ่านการคั่ว, มันฝรั่งทอด, คุกกี้, หรือขนมอบด้วยเช่นกัน อะคริลาไมด์ เกิดจากกรดอะมิโนที่ชื่อ asparagine และน้ำตาลในอาหารหลังจากโดนความร้อนแล้วเปลี่ยนรูปร่างไป (1)

การดื่มกาแฟทำให้เป็นมะเร็งหรือไม่

การศึกษาและรายงานจาก the American Cancer Society, FDA, และ WHO พบว่า อะคริลาไมด์ในอาหารนั้นไม่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งชนิดต่าง ๆ (2) ถึงแม้ว่าอะคริลาไมด์จะทำให้เกิดมะเร็งได้ในกลุ่มสัตว์ทดลองแต่สัตว์กลุ่มนั้นก็เป็นกลุ่มที่ได้รับสารอะคริลาไมด์นี้ในปริมาณมาก (มากกว่า 1,000 – 100,000 เท่าของที่คนได้รับ) ยิ่งเป็นอะคริลาไมด์ในอาหารด้วยแล้วความเสี่ยงยิ่งน้อย (3)

นอกจากงานวิจัยจะพบว่ากาแฟไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งแล้ว ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางประเภทด้วย เช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งผิวหนังชนิด melanoma มะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก (4) งานวิจัยที่ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มกาแฟและมะเร็งตับ พบว่ากลุ่มคนที่ดื่มกาแฟวันละสองแก้ว (475 มิลลิลิตร) มีความเสี่ยงของมะเร็งตับน้อยกว่าถึง 40% (5) ถ้าเรามองภาพรวมของกาแฟต่อสุขภาพนอกเหนือจากโรคมะเร็งแล้ว ในปัจจุบันยังพบว่าการดื่มกาแฟอาจมีผลช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย (4, 6) 

ในปี 2562 ศาลแคลิฟอร์เนียก็ออกประกาศยกเลิกคำสั่งเรื่องสัญลักษณ์เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในกาแฟไปเนื่องจากงานวิจัยในปัจจุบันนั้นชี้ให้เห็นว่ากาแฟไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็ง (7)

บทสรุป

ผลการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าการดื่มกาแฟไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และยังลดช่วยความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิดได้ด้วย ดังนั้นทั้งคอกาแฟ และผู้ป่วยมะเร็งจึงสามารถดื่มกาแฟได้อย่างสบายใจ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ดื่มกาแฟกันในปริมาณที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 3 – 4 แก้วต่อวัน และอย่าลืมนึกถึงปริมาณน้ำตาลหรือไซรัปที่อยู่ในกาแฟกันด้วยนะคะ

By พิชชา วระพงษ์สิทธิกุล

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
M.S., Agricultural and Life Sciences, The University of Tokyo.