Highlights
- ในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพเป็นเรื่องง่าย แต่อัตราการเจ็บป่วยของประชาชนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ข้อมูลเหล่านี้มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และบางครั้งข้อมูลก็ดันขัดแย้งกันเองเสียอย่างนั้น ทำให้เกิดความสับสน
- ทำไมข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน ถึงได้ขัดแย้งกันเอง จนสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปได้มากขนาดนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ตช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลอันมหาศาลได้อย่างง่ายดาย นำมาซึ่งการเติบโตของสิ่งต่าง ๆ มากมาย รวมถึงวงการสาธารณสุขด้วยเช่นกัน
การสื่อสารนโยบายสาธาณสุขและข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว เพียงกดโพสต์และตั้งค่าความเป็นสาธารณะ ประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ทันที
ถ้าการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลมันง่ายดายขนาดนั้น ก็เป็นไปได้ว่าสุขภาพโดยรวมของคนไทยก็น่าจะดีขึ้น การเจ็บป่วยก็น่าจะน้อยลงด้วย จริงมั้ย?
จะตอบคำถามนี้ได้ต้องย้อนกลับไปดูสถิติการเจ็บป่วย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างเป็นโรคมะเร็ง จะพบว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2551 มาจนถึง พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นจาก 156.7 คน เป็น 169.3 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน
แนวโน้มการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พบได้แค่ในประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลกก็เกิดปัญหานี้ไม่ต่างกัน สร้างความสงสัยให้กับนักวิจัยเป็นอย่างมาก
ต่อมาจึงมีนักวิจัยได้ทำการสำรวจความเห็นของคนอเมริกัน เพราะเป็นไปได้ว่าข้อมูลเหล่านี้อาจไม่สามารถส่งไปถึงประชาชนได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
แต่ผลสำรวจกลับพบว่า จริง ๆ แล้ว คนส่วนใหญ่รู้ดีว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น กินผักผลไม้น้อยไป กินเนื้อสัตว์สีแดงมากไป กินอาหารแปรรูปมากไป สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น แสดงว่าข้อมูลเหล่านี้ไปถึงประชาชนแล้ว แล้วปัญหามันอยู่ที่ตรงไหนกัน?
เมื่อทำการสอบถามไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มพบว่าประชาชนส่วนมากมักให้ความเห็นในทิศทางที่ว่า ข้อมูลพวกนี้มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และบางครั้งข้อมูลก็ดันขัดแย้งกันเองเสียอย่างนั้น ทำให้เกิดความสับสน และไม่นำไปสู่การปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน ถึงได้ขัดแย้งกันเอง จนสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปได้มากขนาดนี้
ปัญหาคือ “การสื่อสาร”
ถึงแม้ว่านักวิจัยจะมีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองศึกษาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถอธิบายข้อมูลเหล่านั้นให้คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ เป็นเพราะข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลเชิงลึก และมีคำศัพท์เฉพาะมากมาย
ดังนั้น การสื่อสารข้อมูลจึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง นั่นคือ “สื่อ”
สื่อคอยรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ (เช่น จากงานวิจัย) มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเป็นอย่างมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อก็เป็นสิ่งที่สามารถกำหนดการรับรู้ของเราได้เช่นกัน โดยอาศัยการคัดเลือกข้อมูลทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพื่อมานำเสนอ
การนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สื่อจะทำการเฟ้นหาเรื่องราวอะไรก็ตามที่ดูแตกต่างไปจากปกติ ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างความสนใจให้กับคนทั่วไปได้
มีการศึกษาหนึ่งได้ทำการสำรวจการนำเสนอของสื่อเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 231 เรื่อง พบว่ามีเรื่องราวประมาณ 4% เท่านั้นที่บอกเล่าถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง อาจเป็นเพราะการนำเสนอปัจจัยเหล่านี้ดูไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไรนัก
อีกตัวอย่างเกิดขึ้นในปี 2017 มีนักวิจัยได้ตีพิมพ์งานวิจัยโดยให้ข้อสรุปว่า
“โอกาสเกิดของมะเร็งที่แตกต่างกันในแต่ละอวัยวะนั้น ราว ๆ 2 ใน 3 มาจากการกลายพันธุ์แบบสุ่ม”
ทันทีที่งานวิจัยนี้ได้เผยแพร่ออกไป มีสื่อบางที่ได้ตีความข้อมูลผิดไปอย่างมโหฬาร จนถึงขั้นนำเสนอออกมาว่า
“สาเหตุของการเป็นมะเร็งนั้นมาจากการสุ่ม”
หรือบางที่ก็นำเสนอว่า
“สาเหตุของการเป็นมะเร็งนั้น 2 ใน 3 มาจากการกลายพันธุ์”
ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างจากการค้นพบของนักวิจัยเหล่านี้โดยสิ้นเชิง จึงไม่แปลกที่ข้อมูลที่มาจากแหล่งเดียวกัน บางครั้งก็สามารถกลายพันธุ์จนเกิดความแตกต่าง หรือไปจนถึงขั้นขัดแย้งกันเองได้
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษสื่อแต่อย่างใด เพราะผมเชื่อว่า ความผิดพลาดมักมาจากความไม่ตั้งใจทั้งนั้น แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว คนเสพสื่ออย่างเราควรมีการสร้าง “ภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อ” เป็นของตัวเอง เพื่อไม่ให้ความหลากหลายและความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเสียเอง
ที่มา
1. Kuhaprema T, Attasara P, Sriprung H, Wiangnon S, Sangrajang S. Cancer in Thailand. Bangkok: Ministry of Public Health; 2013.
2. Di Sebastiano KM, Murthy G, Campbell KL, Desroches S, Murphy RA. Nutrition and Cancer Prevention: Why is the Evidence Lost in Translation? Adv Nutr. 2019;10(3):410-8.