Categories
ความรู้ทั่วไป

สัญญาณจับผิดของหลักวิทย์ปลอม ๆ

Highlights

  • ในยุคนี้ อะไรก็ตามที่เราทำการค้นหาลงไปใน Google ไม่นานจะมีโฆษณาที่เกี่ยวข้องตามมาทักทายอยู่เสมอ
  • ถ้าเกิดคุณสนใจในด้านอาหารและสุขภาพ พายุคำโฆษณาจะถาโถมเข้ามาหาคุณอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณมากมายเหลือคณานับ
  • คุณเคยสงสัยบ้างมั้ยว่าคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีที่มาจากไหน? และที่สำคัญ เชื่อถือได้จริงหรือเปล่า? 

เชื่อว่าในยุคนี้ หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับการพบเจอโฆษณาตามอินเตอร์เน็ตกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าลองสังเกตดูจะพบว่าอะไรก็ตามที่เราทำการค้นหาลงไปใน Google ไม่นานจะมีโฆษณาที่เกี่ยวข้องตามมาทักทายอยู่เสมอ

แล้วถ้าเกิดคุณสนใจในด้านอาหารและสุขภาพล่ะ? มั่นใจได้เลยว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ปล่อยโอกาสทองนี้หลุดลอยไปอย่างแน่นอน พายุคำโฆษณาจะถาโถมเข้ามาหาคุณอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณมากมายเหลือคณานับ

แต่คุณเคยสงสัยบ้างมั้ยว่าคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีที่มาจากไหน?
และที่สำคัญ เชื่อถือได้จริงหรือเปล่า? 

ต้องขอบคุณทาง American Food and Nutrition Alliance ที่ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการสังเกตและจับผิดหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
โดยผมได้ทำการรวบรวมและสรุปออกมา ดังนี้เลยครับ

สัญญาณที่ 1 คำกล่าวอ้างที่ดูเกินจริง

อาจจะฟังดูกำปั้นทุบดินไปสักนิด แต่คำกล่าวอ้างที่ดูเกินจริงมักจะมีคุณสมบัติ คือ 

  • ให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ซึ่งมักพบได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนัก อยากชวนคิดกลับกันว่า กว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นยังต้องใช้เวลา แล้วทำไมถึงจะมีอาหารเสริมมาช่วยลดน้ำหนักได้ในเวลาสั้น ๆ กันล่ะ
  • สรรพคุณครอบจักรวาล การกล่าวอ้างถึงสรรพคุณมากมาย สามารถรักษาโรคได้ร้อยแปดอย่าง ขอให้พึงระวังไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจกำลังหลอกลวงคุณอยู่
  • ถ้าคุณกำลังอ่านข้อมูลด้านสุขภาพอยู่เพลิน ๆ แล้วพบว่าข้อมูลนั้นจบลงด้วยการขายสินค้า สัญญาณเตือนภัยของคุณต้องดังขึ้นมาทันที เพราะเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเจอกับคำกล่าวอ้างที่ดูเกินจริงอยู่ 
  • ขัดกับการรับรองความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย.
    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย เป็นต้น ก่อนตัดสินใจซื้อ ผมขอแนะนำให้ลองค้นหาข้อมูลดูก่อนดีกว่า

สัญญาณที่ 2 กล่าวโทษอาหารหรือสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแบบเหมารวม

คุณอาจจะเคยเจอคำพูดประมาณว่า

“น้ำตาลคือยาพิษสีขาว”

“ไขมันเป็นสิ่งเลวร้าย”

“แป้งทำให้อ้วน”

ใครสักคนบนอินเตอร์เน็ต, อดีต-ปัจจุบัน

และคุณอาจจะเคยเจอการจัดประเภท “อาหารที่ดี” และ “อาหารที่แย่” ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่มีอาหารชนิดใดที่ดีหรือแย่ไปทั้งหมด เพียงแต่ต้องเลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม การจำกัดการกินอาหารที่มากเกินไป อาจสร้างพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม และนำไปสู่สุขภาพกายและใจที่แย่ลงได้ด้วยนะครับ

สัญญาณที่ 3 อ้างอิงงานวิจัยอย่างไม่เหมาะสม

คำถามที่ตามมา คือ แล้วการอ้างอิงที่ไม่เหมาะสมมันหน้าตาเป็นยังไง?
คำตอบ คือ เป็นแบบนี้ครับ

  • คำแนะนำแบบลวก ๆ ที่มาจากงานวิจัยที่ซับซ้อน ต้องบอกว่าผลของงานวิจัยจำนวนมาก ไม่สามารถนำมาใช้สร้างเป็นคำแนะนำแบบสั้น ๆ ได้ เป็นเพราะข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำวิจัย ดังนั้น ต้องพึงระวังข้อสรุปอะไรที่ดูเรียบง่ายและครอบคลุมไปหมดทุกเรื่องเอาไว้ให้ดี
  • คำแนะนำที่มาจากงานวิจัยเพียงงานเดียว ในแต่ละปีมักจะมีงานวิจัยที่เหมือนกับว่าจะค้นพบอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากความรู้เดิม ซึ่งการค้นพบเหล่านั้นอาจมาจากผลของการทดลองที่ผิดพลาดก็เป็นได้ ถ้าเจอข้อมูลใหม่ที่ฟังดูขัดแย้งกับความรู้ในปัจจุบันมาก แนะนำว่าควรนำไปปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารก่อนจะดีกว่า
  • คำแนะนำที่มาจากงานวิจัยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัยที่น่าเชื่อถือจะต้องผ่านระบบที่เรียกว่า Peer review ซึ่งเป็นการนำงานวิจัยไปให้ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ช่วยตรวจสอบว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้อาจจะสังเกตยากสักนิดหนึ่ง แนะนำว่าให้นำไปปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
  • คำแนะนำที่มาจากการทดลองในสัตว์หรือกลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าเราไม่ควรรีบปักใจเชื่อว่า อาหารที่ช่วยหนูลดน้ำหนักจะช่วยให้คนลดน้ำหนักได้คล้าย ๆ กัน และอาหารบางอย่างอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน เช่น อาหารที่ช่วยควบคุมน้ำหนักก็ดูไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็งที่น้ำหนักกำลังลดอยู่แล้ว 

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญานเตือนภัยที่ผมหวังว่าจะช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างมากมายบนอินเตอร์เน็ต การถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่มีคุณภาพ จะทำให้คุณสิ้นเปลืองเงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ หรือแย่กว่านั้น หากเป็นอาหารที่ต้องกินเข้าไปในร่างกาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจหมายถึงชีวิตอันมีค่าของเราก็เป็นได้ 

By ธนทัต แซ่เล้า

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต โภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย