Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

เหม็นอาหาร ทำอย่างไร

สเต็กเนื้อจานร้อนสดใหม่ควันฉุย ชุ่มฉ่ำไปด้วยซอสรสเลิศ พร้อมกลิ่นหอมเตะจมูกของเครื่องเทศต่างๆ..หากเสริฟตรงหน้าพลันให้จินตนาการถึง ความนุ่ม เค็ม หวาน มัน กำลังดี ชวนให้อร่อยตั้งแต่ก่อนอาหารจะเข้าปากเสียด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดในการรับรู้ความอร่อยของอาหารจานนี้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราประสาทสัมผัสบางอย่างเราหายไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ/ลำคอ หรือยาเคมีบำบัดบางอย่าง ที่ให้การทำงานของต่อมรับรสและประสาทรับกลิ่นทำงานผิดปกติ

ทั้งรสและกลิ่นต่างมีบทบาทสำคัญในการรับรสของเรา ลิ้นมีต่อมรับรสพื้นฐาน 5 ชนิด ได้แก่ รสเค็ม หวาน เปรี้ยว ขม และรสอูมามิ ส่วนกลิ่นเป็นองค์ประกอบที่ทำให้อาหารต่างๆ มีความอร่อยหลากหลายไม่สิ้นสุด ทุกคนคงเคยกินไอศครีม “กลิ่นสตรอเบอร์รี่”, “กลิ่นส้ม” ไอศรีมเหล่านี้มีรสหวานอมเปรี้ยวเหมือนกัน แต่ถูกแต่งกลิ่นให้เหมือนผลไม้ชนิดต่างๆ

ประสาทรับรสและกลิ่นของผู้ป่วยมะเร็ง อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้หลายแบบ
บางคนลิ้นหวาน บางคนลิ้นจืด
บางคนไม่ได้กลิ่น บางคนรู้สึกเหม็นอาหาร
ดังนั้นการเลือกอาหารให้ผู้ป่วยทานได้ในแต่ละคนจึงแตกต่างกัน

ยาเคมีบำบัดที่มักทำให้ลิ้นมีรสชาติผิดปกติ

Cisplatin

Cyclophosphamide

Doxorubicin

Fluorouracil

Paclitaxel

Vincristine

..หากเหม็นกลิ่นอาหาร ควรตั้งอาหารทิ้งไว้ให้เย็นแล้วค่อยกิน เนื่องจากกลิ่นจะระเหยออกมาตอนอาหารยังร้อน นั่งรับประทานในห้องที่อากาศถ่ายเท หรือเปิดพัดลมดูดอากาศไม่ให้กลิ่นอาหารตลบอวอวลในห้อง
..หากได้กลิ่นอาหารลดลง แนะนำให้กินอาหารตอนยังอุ่นร้อน เพิ่มรสชาติต่างๆในอาหารให้รสจัดขึ้น หรือใส่สมุนไพรเข้าไปเพื่อเพิ่มกลิ่นให้อาหาร

สำหรับรสชาติ
..หากลิ้นหวานให้ปรุงเค็มและเปรี้ยวตัด
..หากลิ้นเค็มให้ใช้หวานตัด
..หากลิ้นจืดให้ลองเพิ่มกลิ่นโดยใช้สมุนไพรชนิดต่างๆ
..หากลิ้นมีรสชาติเหมือนโลหะ แนะนำให้ใช้ช้อนพลาสติกในการรับประทาน

ผู้ป่วยบางคนมีอาการเหม็นเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เนื้อแดง (เนื้อหมู เนื้อวัว) แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงชนิดอื่นทดแทนเพื่อให้ได้รับปริมาณโปรตีนเพียงพอ เช่น ไข่ เต้าหู้ หรือ ถั่วชนิดต่างๆ

นอกจากรสและกลิ่น เนื้อสัมผัสของอาหารและความชุ่มฉ่ำ ก็มีผลต่อการรับประทานของผู้ป่วยมะเร็ง
..หากปากเป็นแผลหรือน้ำลายแห้ง (มักเกิดจากการฉายแสงโดยบริเวณต่อมน้ำลาย) ควรรับประทานอาหารอ่อนนุ่มและชุ่มฉ่ำ
..หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรรับประทานของแห้งๆ และไม่มัน

นอกจากนี้ การขาดวิตามินบี โปรตีน สังกะสี หรือมีเกลือแร่บางอย่างในเลือดผิดปกติ ก็ทำให้ลิ้นมีรสชาติเปลี่ยนได้ ผู้ป่วยมะเร็งจึงควรได้รับโปรตีน รวมทั้งวิตามินแร่ธาตุต่างๆให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

By นพ. ธนน คงเจริญสมบัติ

สาขาที่เชี่ยวชาญ อายุรศาสตร์, โภชนศาสตร์คลินิก