ถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง และมีความเป็นหญิง แต่การมีฮอร์โมนนี้ระดับสูงหรือได้รับเป็นเวลานานเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากฮอร์โมนนี้สามารถกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งหลายคนจึงมีความกังวลว่า การรับประทานนมถั่วเหลืองจะไปกระตุ้นให้มะเร็งเต้านมโตหรือไม่
แต่สาร Isoflavone ไม่ได้ออกฤทธิ์เหมือน Estrogen เสียทีเดียว การศึกษาในมนุษย์ พบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม และอาจจะช่วยลดความเสี่ยงได้ด้วย (1)
ความเข้าใจผิดบางส่วนอาจมาจากผลการศึกษาที่แตกต่างกันของการศึกษาในคนและสัตว์ โดยการศึกษาวิจัยในสัตว์พบว่าหนูที่ได้รับ Isoflavone ในปริมาณสูง มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น แต่ร่างกายของมนุษย์และหนูมีการทำงานแตกต่างกัน และปริมาณ Isoflavone ที่ใช้ในหนูก็สูงกว่าปริมาณที่มีในอาหารปกติมาก (2)
นอกจากจะลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในคนปกติแล้ว ในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม พบว่าการบริโภคอาหารจากถั่วเหลืองมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมด้วย (3)
โดยสรุป ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงอันตรายใดๆ จากการกินถั่วเหลือง อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แนะนำให้กินในปริมาณปกตินะคะ เพราะยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าถ้ารับประทานปริมาณมากๆ ผลจะเป็นอย่างไร ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้, เทมเป้, ถั่วแระญี่ปุ่น, มิโซะ และนมถั่วเหลืองยังเป็นแหล่งโปรตีนและไขมันคุณภาพดี ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ค่ะ