ในแต่ละวันเราทุกคนอาจได้สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม โดยไม่ทันได้สังเกต ทั้งเสื้อผ้า อาหารและยารักษาโรค เช่น กางเกงยีนจากฝ้ายที่ทนต่อศัตรูพืช มะเขือเทศสีสวยเนื้อหนา อินซูลินรักษาโรคเบาหวานที่ผลิตจากแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม Genetically Modified Organisms (GMO) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของเราทุกคน การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างปลอดภัย
สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) คืออะไร
สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมคือสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงสารพันธุกรรมไปในลักษณะที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตมีคุณลักษณะตามต้องการดังนั้นอาหารดัดแปลงพันธุกรรม ก็คือ อาหารที่มีส่วนประกอบมาจากพืชหรือสัตว์ที่ถูกปรับปรุงสารพันธุกรรม โดยอาจถูกพัฒนาให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น เช่น มันฝรั่งเพิ่มโปรตีน ถั่วเหลืองไขมันอิ่มตัวต่ำ ข้าวเพิ่มสารเบต้าแคโรทีน หรือพัฒนาเพื่อเอื้อต่อการเกษตรกรรม เช่น ถั่ววอลนัทที่ทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคพืช มะละกอที่ทนทานต่อโรคด่างวงแหวน หรือเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลผลิต เช่น มะเขือเทศเนื้อหนาช่วยลดโอกาสการบอบช้ำขณะขนส่ง ผลมะละกอที่มีเมล็ดน้อยลง (1)
อาหารดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ก่อมะเร็งหรือไม่
ถึงแม้ว่ากระบวนการพัฒนาอาหารดัดแปลงพันธุกรรม เป็นการปรับเปลี่ยนในระดับสารพันธุกรรมของพืช แต่จากหลักฐานในปัจจุบัน การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรมนั้นปลอดภัยเช่นเดียวกับอาหารที่ไม่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม และไม่ได้เป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งหรือกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด (2)
จากการศึกษาสุขภาพของสัตว์ปศุสัตว์ (สุกร ไก่และโค) ที่ถูกเลี้ยงด้วยเมล็ดข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม พบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกับสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารปกติ ทั้งน้ำหนักตัว โลหิตวิทยา ผลทางชีวเคมีและระบบภูมิคุ้มกันล้วนอยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งผลผลิต เช่น นมโค ก็ไม่มีความแตกต่างเช่นกัน (3)
กรณีข่าวดังในถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมเมื่อหลายปีก่อน ที่พบสารไกลโฟเซตนั้น เกิดจากการใช้สารเคมีในขั้นตอนการเพาะปลูกของเกษตรกร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงพันธุกรรมแต่อย่างใด ซึ่งไกลโฟเซตนี้ก็คือ สารกำจัดวัชพืช ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก สารเคมีชนิดนี้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่ แต่หากใช้ในปริมาณมากไม่ว่ากับการปลูกพืชชนิดใด ก็อาจทำให้มีสารนี้ตกค้างอยู่ในผลผลิต และเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อผู้บริโภคได้ (4)
ข้อได้เปรียบของอาหารดัดแปลงพันธุกรรม (GMO)
จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมรายใหญ่ พบว่า เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดต้านทานแมลง สามารถลดการใช้สารเคมีในการกำจัดหนอนที่เป็นศัตรูพืชของข้าวโพดได้มากถึง 80% (5)
พืชดัดแปลงพันธุกรรมหลายชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันฝรั่ง มะเขือ ถูกพัฒนาให้ทนต่อแมลง โรคพืช สารกำจัดวัชพืช และสภาพแวดล้อมที่ปลูก ทำให้เกษตรกรสามารถลดใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชหรือเร่งผลผลิตซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของผู้บริโภคต่อการได้รับสารเคมีได้อีกทางหนึ่ง (6) นอกจากนี้พืชบางชนิดได้รับการดัดแปรพันธุกรรมเพื่อให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่น ถั่วเหลืองที่ได้รับการพัฒนาให้มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า 9 เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 4 เท่า จนมีปริมาณใกล้เคียงกับที่พบในน้ำมันมะกอก อะโวคาโด และเมล็ดอัลมอนด์ (7)
ผู้บริโภคควรระวังอย่างไร
ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ แต่สามารถนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารหรืออาหารสัตว์ได้ ข้อกำหนดนี้เป็นไปเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามสายพันธุ์ของพืชดัดแปลงพันธุกรรมกับพืชท้องถิ่น อาหารดัดแปลงพันธุกรรมสามารถขายในท้องตลาดได้ก็ต่อเมื่อได้รับการประเมินจาก องค์การอาหารและยาแล้วว่าไม่มีผลกระทบใดใดต่อสุขภาพ
แม้ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพหรือเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งจากการบริโภคอาหารดัดแปลงพันธุกรรม แต่หากผู้อ่านท่านใดมีความกังวลและต้องการหลีกเลี่ยง สามารถปฏิบัติตามแนวทางเบื้องต้นได้ดังนี้ (8)
- ผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศ หากมีส่วนประกอบของถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง หรือคาโนล่า ให้ตรวจดูว่าวัตถุดิบเหล่านั้นมาจากประเทศใด (ประเทศที่มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมมากที่สุดสามอันดับแรก ตามรายงานของ ISAAA 2016 ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา)
- สังเกตคำว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” ในฉลากแสดงส่วนประกอบของอาหาร (ตามกฎหมายไทย ถ้ามีส่วนผสมของวัตถุดิบดัดแปลงพันธุกรรมมากกว่า 5% จะต้องแสดงในฉลาก)
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์แบบออร์แกนิค
- เลือกทานอาหารตามฤดูกาล และเลือกซื้อวัตถุดิบที่ปลูกภายในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์
สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง การเลือกรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายและการพักผ่อนอย่างเหมาะสม ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ยังคงเป็นแนวทางหลักที่ทางการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ทั้งนี้เรายังคงต้องติดตามผลงานวิจัยผลกระทบของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมต่อสุขภาพแบบระยะยาวต่อไป