Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

อาหารจากเตาไมโครเวฟปลอดภัย หรือ เสี่ยงมะเร็ง

เตาไมโครเวฟอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการอุ่นและประกอบอาหาร เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการทำอาหาร ทำให้เตาไมโครเวฟได้รับความนิยมในวงกว้าง อย่างไรก็ตามเจ้าเตาไมโครเวฟนี้ก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยมากมายถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ความเสี่ยงโรคมะเร็งและอันตรายจากรังสีตกค้าง แต่จะจริงเท็จแค่ไหน บทความในวันนี้มีคำตอบค่ะ

เตาไมโครเวฟคืออะไรและทำงานอย่างไร

คลื่นไมโครเวฟที่ใช้การประกอบอาหาร เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นเดียวกับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์หรือคลื่นวิทยุทั่วๆไป เตาไมโครเวฟทำงานโดยใช้หลอดแมกนีตรอนในการผลิตคลื่นไมโครเวฟและปล่อยผ่านเข้าไปในอาหารหรือของเหลว ทำให้โมเลกุลของน้ำสั่นจนเกิดความร้อนในเวลาอันรวดเร็ว (คล้ายๆกับเวลาที่เราเอามือสองข้างมาถูกันเพื่อให้เกิดความร้อน)

อาหารที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ มีรังสีตกค้างจริงหรือ

คลื่นไมโครเวฟ เป็นคลื่นพลังงานต่ำเมื่อผ่านเข้าไปในอาหารจะมอบพลังงานให้กับโมเลกุลของน้ำในอาหาร แล้วสลายตัวไป ดังนั้นเมื่อเครื่องสิ้นสุดการทำงานจึงไม่มีรังสีไมโครเวฟหลงเหลืออยู่ทั้งในอาหารและภายในเตา

นอกจากนี้ระบบการทำงานของเตาไมโครเวฟเองก็ไม่ได้มีการสร้างกัมมันตภาพรังสี ฉะนั้นอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยเตาไมโครเวฟจึงไม่มีอันตรายจากรังสีแต่อย่างใด (1)

ไมโครเวฟทำให้คุณค่าทางอาหารลดลงหรือไม่

การปรุงอาหารด้วยความร้อนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คุณค่าทางโภชนาการในอาหารลดลง โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินที่ละลายในน้ำ นั่นคือ วิตามินซีและวิตามินบี เพราะสามารถสลายเมื่อโดนความร้อนหรือละลายไปกับน้ำได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ เตาอบธรรมดา หรือการประกอบอาหารด้วยวิธีอื่น ก็ล้วนแต่ทำให้สารอาหารเหล่านี้ลดลงได้เช่นกัน แต่ข้อได้เปรียบของเตาไมโครเวฟคือ สามารถทำให้เกิดความร้อนได้เร็วกว่า จึงช่วยลดเวลาการปรุงอาหาร ทำให้อาหารสัมผัสกับความร้อนในระยะเวลาที่สั้นกว่า ลดการสูญเสียน้ำ จึงสามารถคงคุณค่าทางสารอาหารได้ดีกว่า (2)

ยกตัวอย่างเช่น บร็อคโคลี่หากนำไปต้มนาน 5 นาทีจะทำให้วิตามินซีลดลงประมาณ 50% ในขณะที่การนำเข้าเตาไมโครเวฟ 2 นาที จะสามารถรักษาวิตามินซีไว้ได้มากกว่า 90% (3)

ไมโครเวฟทำให้เป็นมะเร็งได้จริงหรือ

แม้การใช้เตาไมโครเวฟจะไม่ทำให้เกิดรังสีหรือคลื่นไมโครเวฟตกค้างในอาหาร แต่ทุกคนคงทราบกันดีว่า อาหารที่ถูกความร้อนสูงจนไหม้เกรียม ไม่ว่าจากการอบ ทอด หรือปิ้งย่างนั้น จะเกิดสารเฮทเทอโรไซคลิกเอมีน (HCAs) และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ (4)

ดังนั้นในการอุ่นหรือประกอบอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ จึงควรระวังไม่ให้อาหารไหม้เกรียมเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องการใช้ไมโครเวฟในการปรุงอาหารให้สุก เพราะเตาไมโครเวฟนั้นไม่สามารถทำความร้อนให้ทั่วถึงเท่ากันทุกจุดได้ จึงอาจทำให้อาหารสุกไม่ทั่วถึง หรือมีบางส่วนไหม้ได้ (5)

ผู้ใช้งานอาจจะใช้ตัวช่วยที่ทำให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง เช่นฝาครอบอาหาร เพื่อควบคุมความร้อนและไอน้ำไม่ให้ระเหยไป หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารที่มีชิ้นขนาดใหญ่มาก หากต้องการทำละลายเนื้อสัตว์หรืออาหารแช่แข็งควรเลือกโหมดกำลังไฟต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้สุกเกินไปหรือเกิดไหม้ได้

เลือกภาชนะให้ถูก ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้

ภาชนะพลาสติกส่วนใหญ่ไม่สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้ เนื่องจากความร้อนจะทำให้สารเคมีในพลาสติก เช่น สารบิสฟีนอล เอ (BPA) ละลายและปนเปื้อนในอาหาร

สาร BPA นำไปสู่ผลเสียทางด้านสุขภาพและความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่และมะเร็งต่อมลูกหมาก (6) ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ภาชนะประเภทแก้ว เซรามิก หรือพลาสติกที่มีระบุว่าสามารถเข้าเตาไมโครเวฟได้เท่านั้น

สามารถมองเตาไมโครเวฟขณะทำงานได้หรือไม่

ประตูของเตาไมโครเวฟถูกออกแบบมาให้มีฉนวนกั้นแบบมีรูเล็ก ๆ รูเหล่านี้มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่คลื่นไมโครเวฟมีขนาดประมาณประมาณ 12 เซนติเมตร จึงไม่สามารถทะลุผ่านออกมาได้ สำหรับแสงสีส้มที่เห็นเวลาเครื่องทำงานนั้น คือแสงจากหลอดไฟที่ทางผู้ผลิตติดตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานมองเห็นอาหารด้านในเท่านั้น (7)

บทสรุป

เตาไมโครเวฟยังคงเป็นอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยในการอุ่นและประกอบอาหาร  ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่บ่งชี้ว่าการทานอาหารที่ผ่านเตาไมโครเวฟนั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในทางกลับกันงานศึกษาวิจัยหลายเรื่องยังชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการคงคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าการปรุงประกอบอาหารด้วยวิธีอื่น ๆ

เพื่อความปลอดภัย ควรตรวจสอบเตาไมโครเวฟให้มีสภาพสมบูรณ์ก่อนการใช้งาน โดยเฉพาะผนังของประตูไมโครเวฟต้องไม่มีตำหนิ หรือรอยรั่ว ขอบประตูปิดสนิท เพื่อป้องกันคลื่นไมโครเวฟทะลุออกมา รวมทั้งปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานเพื่อความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

By พิธพร ธาดามาตากุล

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย