นมและผลิตภัณฑ์จากนมถือเป็นแหล่งของแคลเซียมและโปรตีนที่ดี
ซึ่งมีความสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและการทำงานของกล้ามเนื้อ ประโยชน์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันมานานแล้ว แต่ว่างานวิจัยใหม่ ๆ
ได้จุดประเด็นถึงอันตรายจากนม ซึ่งอาจจะมากกว่าประโยชน์เสียอีก
สิ่งที่ทำให้นมกลายเป็นจุดสนใจในปัจจุบัน คือ การที่มันมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก
ย้อนความกลับไปเมื่อราว 20 ปีก่อน ในปี 2001 มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ชายชาวญี่ปุ่นมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 25 เท่า และยังเสียชีวิตด้วยอายุเฉลี่ยต่ำกว่าเดิม (ตายเร็วขึ้น)
หนึ่งปีต่อมา ในปี 2002 นักวิจัยกลุ่มเดิมก็เริ่มเห็นถึงความผิดปกติอีกครั้ง เมื่อพบว่าการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 55 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้ง 2 เหตุการณ์มีจุดเชื่อมโยงที่น่าสนใจ คือ อัตราการตายที่เพิ่มขึ้นตรงกับช่วงเวลาที่การกินอาหารของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น
มีการบริโภคเนื้อสัตว์และไข่มากขึ้น และจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ในปี 1959 รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดนโยบายนมโรงเรียนขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น จนส่งผลให้การบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากอดีตถึง 20 เท่า
เมื่อนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ก็พบว่า ยิ่งมีการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มขึ้นเท่าใด อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งทั้งสองชนิดในแต่ละปีก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หลังจากงานวิจัยทั้ง 2 ฉบับได้ตีพิมพ์ออกไป ทั่วโลกก็เกิดการตื่นตัวถึงประเด็นนี้มากขึ้น สะท้อนออกมาเป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับนมและโรคมะเร็งผุดตามออกมาเป็นดอกเห็ด พร้อมกับสรุปผลไปในทิศทางคล้าย ๆ กันว่า นมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทั้งสองชนิดนี้จริง ๆ
สิ่งที่ทำให้นมดูน่ากลัวนั้น มาจากการศึกษาที่พบว่า การดื่มนมจะไปเพิ่มฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Insulin-like growth factor-1 (IGF-1) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายมีการเจริญเติบโต แต่หากมีปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายเจริญเติบโตเกินความจำเป็น จนเป็นมะเร็งในที่สุด
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การผลิตนมในปัจจุบันมักมาจากวัวที่กำลังตั้งท้อง ซึ่งเป็นช่วงที่วัวมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) สูงมาก และฮอร์โมนนี้ก็ถูกส่งต่อมาในน้ำนม หากคนดื่มเข้าไปมาก ๆ ก็อาจไปกระตุ้นให้มะเร็งเต้านมชนิดที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนเกิดโตขึ้นมาได้
แต่ถึงอย่างนั้น ทำไมปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำให้เลิกดื่มนมอย่างเป็นทางการออกมาเสียทีล่ะ? ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรด้านสุขภาพและหน่วยงานของรัฐในหลาย ๆ ประเทศกลับมีนโยบายให้ประชากรของตนเองมีการดื่มนมทุกวันด้วยซ้ำ ส่วนประเทศไทยเองก็มีการให้คำแนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรดื่มนมวันละ 1-2 แก้วเช่นกัน
สาเหตุที่ยังไม่มีการจัดตั้งเป็นข้อสรุปให้เลิกดื่มนมนั้น เป็นเพราะว่างานวิจัยเหล่านี้ยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะนำมากำหนดเป็นนโยบายระดับโลกหรือแม้กระทั่งระดับชาติ
งานวิจัยเหล่านี้มักเป็นงานวิจัยที่นำกลุ่มคนที่ดื่มนมเยอะกับกลุ่มที่ดื่มนมน้อยมาเปรียบเทียบกัน แล้ววัดผลว่ากลุ่มไหนมีการป่วยเป็นมะเร็งมากกว่ากัน ซึ่งผลก็อย่างที่กล่าวไป กลุ่มที่ดื่มนมเยอะดูมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคมากกว่า
ปัญหา คือ ปัจจัยของการเกิดมะเร็งไม่ได้มีแค่เรื่องของการดื่มนมเยอะหรือน้อยเพียงอย่างเดียว มีงานวิจัยพบว่า คนที่ดื่มนมเยอะมีแนวโน้มที่จะบริโภคเนื้อสัตว์สีแดงเยอะตามไปด้วย ซึ่งเนื้อสัตว์สีแดงนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณการดื่มนมมักเกิดจากการสอบถามโดยให้แต่ละคนนึกย้อนกลับไปว่า ภายในช่วงเวลาที่ผ่านมา (อาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) มีการดื่มนมประมาณกี่ครั้ง ปริมาณเท่าไรบ้าง เพื่อคำนวณปริมาณการบริโภคโดยเฉลี่ย จึงทำให้ข้อมูลที่ได้รับอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะแค่ลองนึกว่าเมื่อวานกินอะไรไปบ้าง บางทีอาจยังนึกไม่ออกด้วยซ้ำ
งานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อลดข้อจำกัดเหล่านี้ เริ่มพบแนวโน้มว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ลดลง หรือแม้กระทั่งมีบางงานวิจัยกลับไม่พบว่ามันสัมพันธ์กัน ไปจนถึงอาจจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
ด้วยหลักฐานในปัจจุบัน ทางกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund) ได้ให้คำแนะนำออกมาว่า นมอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน แต่ทั้งนี้ หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังน้อยและขัดแย้งกันเองเป็นส่วนมาก
สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง การดื่มนมจะทำให้เนื้องอกโตขึ้นหรือไม่นั้น “ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ” หากใครชอบดื่มนม ก็สามารถดื่มต่อไปได้ เพราะนมก็ยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์อยู่ดี แต่หากใครไม่ชอบหรือดื่มแล้วไม่สบายใจ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นดื่มนมถั่วเหลือง หรืออาหารทางการแพทย์แทน ก็จะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เช่นเดียวกัน
References
1. Ganmaa D, et al. Incidence and mortality of testicular and prostatic cancers in relation to world dietary practices. Int J Cancer. 2002;98(2):262-7.
2. Li XM, et al. The experience of Japan as a clue to the etiology of breast and ovarian cancers: relationship between death from both malignancies and dietary practices. Med Hypotheses. 2003;60(2):268-75.
3. Lopez-Plaza B, et al. Milk and Dairy Product Consumption and Prostate Cancer Risk and Mortality: An Overview of Systematic Reviews and Meta-analyses. Adv Nutr. 2019;10(suppl_2):S212-S23.