ธนทัต แซ่เล้า – GoodHope​ Nutrition https://goodhopenutrition.com โภชนาการที่คุณวางใจ Sat, 19 Sep 2020 07:53:20 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.7.1 https://goodhopenutrition.com/wp-content/uploads/2020/09/cropped-goodhope-icon-app-01-1-32x32.png ธนทัต แซ่เล้า – GoodHope​ Nutrition https://goodhopenutrition.com 32 32 อาหารปั่นผสม กับ อาหารทางการแพทย์ https://goodhopenutrition.com/articles/%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%aa%e0%b8%a1-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%9e%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c/ Wed, 24 Jun 2020 13:21:14 +0000 https://goodhopenutrition.com/?p=677 Hilight
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่กินได้น้อย แพทย์อาจจะแนะนำให้ใส่สายยางเพื่อให้อาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน และแข็งแรงเร็ว
  • อาหารเหลวที่ใช้ป้อนทางสายยาง มีสองชนิดใหญ่ๆ คือ อาหารปั่นผสม และอาหารทางการแพทย์ ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักความเหมือนที่แตกต่างของอาหารทั้งสองแบบนี้ครับ

อาหารปั่นผสม (Blenderized Diet) หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บีดี เป็นการนำเอาอาหารสดมาทำให้สุก จากนั้นจึงทำการ “ปั่นผสม” รวมกันเป็นเนื้อเดียว

อาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) เป็นอาหารที่ถูกดัดแปลงสารอาหารให้เหมาะสมกับโรค ของผู้ป่วย มักอยู่ในรูปแบบผงหรือของเหลว

ทั้งอาหารปั่นผสมและอาหารทางการแพทย์เหมือนกันตรงที่ เป็นการเปลี่ยนลักษณะอาหารจากของแข็งให้กลายเป็นของเหลว เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาบริเวณช่องปากและลำคอ รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสาย สามารถกินอาหารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยมะเร็ง สามารถใช้ดื่มเสริมทางปาก เพื่อเพิ่มพลังงานและสารอาหารให้กับร่างกายได้

ถึงแม้ว่าอาหารทั้งสองชนิดจะมีความเหมือนกันในแง่ของจุดประสงค์ในการใช้งาน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

1. ความสะดวก

อาหารปั่นผสมจำเป็นต้องมีการชั่งตวงวัตถุดิบให้ “เป๊ะ” เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน และใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน แต่อาหารทางการแพทย์มีความสะดวกมากกว่า เพราะสามารถชงกับน้ำสะอาดแล้วใช้ได้ทันที

2. ความสะอาด

อาหารปั่นผสม ใช้วัตถุดิบสดจึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคมาจากแหล่งผลิตถ้าเตรียมไม่เหมาะสม แต่อาหารทางการแพทย์ถูกฆ่าเชื้อแล้วบรรจุในภาชนะปิดจึงมีโอกาสปนเปื้อนน้อยกว่า อย่างไรก็ตามถ้ารักษาความสะอาดและเตรียมอย่างเหมาะสม อาหารทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยเหมือนกัน

3. ระยะเวลาการแขวน

อาหารปั่นผสม เมื่อนำออกจากตู้เย็นแล้วควรกินหรือให้ทางสายให้หมดภายใน 2 ชม. ในขณะที่อาหารทางการแพทย์จะมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 4 ชม.​

4. ความครบถ้วนของสารอาหาร

อาหารปั่นผสมจะมีการสูญเสียวิตามินและแร่ธาตุไปในขั้นตอนการล้างและการต้ม (ดังนั้นแพทย์จึงอาจจะสั่งวิตามินเสริม) ซึ่งต่างจากอาหารทางการแพทย์ที่ไม่มีการสูญเสียสารอาหารไปจากการชง และมักมีวิตามินและเกลือแร่ครบถ้วน เมื่อได้รับเกิน 1,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

5. ความเหมาะสมกับโรค

ทั้งอาหารปั่นผสมและอาหารทางการแพทย์สามารถปรับเปลี่ยนสูตรให้เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วยได้ แต่อาหารทางการแพทย์จะมีข้อได้เปรียบตรงที่มักมีการเติมสารอาหารพิเศษบางชนิด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยบางโรค และบางสูตรมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารอาหาร เพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการย่อยและการดูดซึมโดยเฉพาะ

6. ราคา

โดยส่วนมากอาหารทางการแพทย์มักมีราคาสูงกว่าอาหารปั่นผสม และจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปตามสารอาหารที่เติมลงไปหรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารอาหารตามข้อที่แล้ว 

โดยสรุป หากอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกำหนดอาหาร ทั้งอาหารปั่นผสมและอาหารทางการแพทย์สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารได้เพียงพอเช่นเดียวกัน เพียงแค่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแล โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยให้มากที่สุด

[เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.นพ.ปราการ ธานี]

]]>
กินปิ้งย่างอย่างไร ปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง https://goodhopenutrition.com/articles/%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%a3-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%a0%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%87/ Sun, 14 Jun 2020 04:47:35 +0000 https://goodhopenutrition.com/?p=487 Highlights
  • การปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงอย่างการปิ้งย่าง จะทำให้โปรตีนและไขมันในอาหารเปลี่ยนเป็น HCAs และ PAHs​ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
  • ถึงแม้ว่าการปิ้งย่างจะเพิ่มสารก่อมะเร็ง แต่การปรับเปลี่ยนขั้นตอนและวิธีการปรุงอาหารก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

หมูย่างเกาหลีสีสดใส เนื้อไก่หมักงา เนื้อวากิวลายหินอ่อน ปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ อาหารทะเลจากเมดิเตอร์เรเนียน และผู้เขียนจาก GoodHope (ไม่มีอะไรครับ เห็นมันคล้องจองดี)

อาหารเหล่านี้น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คน และถ้าหากนำไปปิ้งหรือย่างด้วยแล้ว จะยิ่งส่งกลิ่นหอมคละคลุ้งไปทั่ว พร้อมกับสีสันที่ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

แต่รู้หรือไม่? ควันที่หอมฉุย และสีสันของเนื้อสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจไม่ได้น่าพิสมัยอย่างที่คิด!

เป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว ที่นักวิจัยสังเกตเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง เช่น การปิ้ง การย่าง หรือการรมควัน สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้

สารก่อมะเร็งที่กำลังพูดถึงมีด้วยกันอยู่ 2 กลุ่ม คือ Heterocyclic Amines (HCAs) และ Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs)

จุดเริ่มต้นของสารก่อมะเร็งมาจากการที่เนื้อสัตว์เมื่อผ่านความร้อนสูง จะทำให้โปรตีนถูกเปลี่ยนไปเป็น HCAs ซึ่งปฏิกิริยานี้สามารถสังเกตได้จากการที่เนื้อสัตว์ถูกปิ้งหรือย่างจะทำให้สีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ

พบว่ายิ่งเนื้อสัตว์มีสีเข้มมากขึ้นเท่าไร ยิ่งแสดงว่ามี HCAs มากขึ้นเท่านั้น

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงไม่ควรกินตรงบริเวณที่ไหม้นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น การปิ้งหรือย่างจะยังทำให้ไขมันในเนื้อสัตว์ละลายลงไปบนเตา จากนั้นจึงถูกเปลี่ยนเป็นสาร PAHs ลอยตามขึ้นมากับควันไฟและไปเกาะติดที่เนื้อสัตว์ที่กำลังถูกย่าง ซึ่งเราอาจได้รับ PAHs ได้ทั้งจากการกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น หรือสูดดมเข้าไปโดยตรงก็ได้

จำง่าย ๆ ว่า เวลานำเนื้อสัตว์ไปปิ้งหรือย่าง จะเกิดกระบวนการอยู่ 2 อย่าง
โปรตีน เกิดการเผาไหม้ ได้ HCAs
ไขมัน เกิดเป็นควันไฟ ได้ PAHs

ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ต้องระวังในการกินอาหารปิ้งย่าง คือ การเผาไหม้และควันไฟ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผมจึงขอนำเสนอ วิธีกินปิ้งย่างอย่างไรให้ได้รับสารก่อมะเร็งน้อยที่สุด

ขั้นที่ 1 หั่นเนื้อสัตว์ให้บาง

ยิ่งเนื้อสัตว์บาง จะยิ่งช่วยลดระยะเวลาในการปิ้งย่างลงไป ทำให้เกิด HCAs น้อยลงตามไปด้วย

ขั้นที่ 2 เปลี่ยนประเภทเนื้อสัตว์

โดยเน้นไปที่ปลาและอาหารทะเลแทน เพราะอาหารเหล่านี้ใช้เวลาในการปรุงไม่นาน นอกจากนี้อาหารทะเลที่มีเปลือกจะช่วยป้องกันไม่ให้ไฟสัมผัสกับเนื้อโดยตรงด้วย

ขั้นที่ 3 ตัดส่วนที่เป็นไขมันออก

ดังที่กล่าวไปว่าไขมันทำให้เกิดควันและสาร PAHs ดังนั้นการตัดส่วนที่เป็นไขมันออกไปบ้าง จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ลง แถมยังช่วยให้ได้รับไขมันอิ่มตัวน้อยลงอีกต่างหาก

ขั้นที่ 4 หมักเนื้อก่อน

การหมักด้วยกรด เช่น น้ำสับปะรด ยางมะละกอ หรือน้ำมะนาว จะช่วยเคลือบผิวของเนื้อสัตว์ทำให้ความร้อนจากไฟไม่สัมผัสกับอาหารโดยตรง แถมยังเป็นการเพิ่มความนุ่มชุ่มลิ้นให้กับอาหารอีกด้วย

ขั้นที่ 5 ลดระยะเวลาที่ใช้ในการปิ้งย่าง

ก่อนจะนำไปปิ้งบนเตาหรือย่างบนกระทะ ควรนำเนื้อสัตว์ไปอุ่นด้วยไมโครเวฟเพื่อให้สุกระดับหนึ่งก่อนจะดีกว่า

ขั้นที่ 6 ปรุงกับสมุนไพร

สารต้านอนุมูลอิสระในสมุนไพรช่วยลดการเกิด HCAs ลงไปได้ ครั้งหน้าลองทำเป็นเมนูหมูย่างสมุนไพรก็ฟังดูไม่เลวเลยจริงมั้ยครับ

ขั้นตอนที่ 7 พลิกบ่อย ๆ

การพลิกเนื้อสัตว์กลับด้านไปมาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เกิด HCAs น้อยกว่าการย่างให้เสร็จทีละด้าน

ขั้นที่ 8 อย่าสูดควัน

แนะนำให้เลือกร้านปิ้งย่างที่มีระบบจัดการควันที่ดี หรือหากทำอาหารเองที่บ้าน ก็ควรมีการติดตั้งเครื่องดูดควันหรือพัดลมระบายอากาศในครัว เพื่อลดความเสี่ยงจากการสูดควันที่มี PAHs ให้น้อยที่สุด

ขั้นที่ 9 อย่ากินเนื้อส่วนที่ไหม้

“ตรงไหม้ ๆ เนี่ยแหละกรอบดี” แต่ถ้าต้องแลกมากับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่เพิ่มขึ้น ก็ฟังดูไม่ค่อยคุ้มเท่าไร ว่ามั้ยครับ?


ที่มา

1. National Cancer Institute. 2017. Chemicals In Meat Cooked At High Temperatures And Cancer Risk. [online] Available at: https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/diet/cooked-meats-fact-sheet [Accessed 10 June 2020].
2. Adeyeye SAO. Heterocyclic Amines and Polycyclic Aromatic Hydrocarbons in Cooked Meat Products: A Review. Polycycl Aromat Compd. 2018:1-11.

]]>
สัญญาณจับผิดของหลักวิทย์ปลอม ๆ https://goodhopenutrition.com/articles/%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%8d%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9c%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%a1/ Sat, 30 May 2020 04:06:15 +0000 https://goodhopenutrition.com/?p=357 Highlights
  • ในยุคนี้ อะไรก็ตามที่เราทำการค้นหาลงไปใน Google ไม่นานจะมีโฆษณาที่เกี่ยวข้องตามมาทักทายอยู่เสมอ
  • ถ้าเกิดคุณสนใจในด้านอาหารและสุขภาพ พายุคำโฆษณาจะถาโถมเข้ามาหาคุณอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณมากมายเหลือคณานับ
  • คุณเคยสงสัยบ้างมั้ยว่าคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีที่มาจากไหน? และที่สำคัญ เชื่อถือได้จริงหรือเปล่า? 

เชื่อว่าในยุคนี้ หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับการพบเจอโฆษณาตามอินเตอร์เน็ตกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าลองสังเกตดูจะพบว่าอะไรก็ตามที่เราทำการค้นหาลงไปใน Google ไม่นานจะมีโฆษณาที่เกี่ยวข้องตามมาทักทายอยู่เสมอ

แล้วถ้าเกิดคุณสนใจในด้านอาหารและสุขภาพล่ะ? มั่นใจได้เลยว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ปล่อยโอกาสทองนี้หลุดลอยไปอย่างแน่นอน พายุคำโฆษณาจะถาโถมเข้ามาหาคุณอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณมากมายเหลือคณานับ

แต่คุณเคยสงสัยบ้างมั้ยว่าคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีที่มาจากไหน?
และที่สำคัญ เชื่อถือได้จริงหรือเปล่า? 

ต้องขอบคุณทาง American Food and Nutrition Alliance ที่ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการสังเกตและจับผิดหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
โดยผมได้ทำการรวบรวมและสรุปออกมา ดังนี้เลยครับ

สัญญาณที่ 1 คำกล่าวอ้างที่ดูเกินจริง

อาจจะฟังดูกำปั้นทุบดินไปสักนิด แต่คำกล่าวอ้างที่ดูเกินจริงมักจะมีคุณสมบัติ คือ 

  • ให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ซึ่งมักพบได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนัก อยากชวนคิดกลับกันว่า กว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นยังต้องใช้เวลา แล้วทำไมถึงจะมีอาหารเสริมมาช่วยลดน้ำหนักได้ในเวลาสั้น ๆ กันล่ะ
  • สรรพคุณครอบจักรวาล การกล่าวอ้างถึงสรรพคุณมากมาย สามารถรักษาโรคได้ร้อยแปดอย่าง ขอให้พึงระวังไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจกำลังหลอกลวงคุณอยู่
  • ถ้าคุณกำลังอ่านข้อมูลด้านสุขภาพอยู่เพลิน ๆ แล้วพบว่าข้อมูลนั้นจบลงด้วยการขายสินค้า สัญญาณเตือนภัยของคุณต้องดังขึ้นมาทันที เพราะเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเจอกับคำกล่าวอ้างที่ดูเกินจริงอยู่ 
  • ขัดกับการรับรองความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย.
    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย เป็นต้น ก่อนตัดสินใจซื้อ ผมขอแนะนำให้ลองค้นหาข้อมูลดูก่อนดีกว่า

สัญญาณที่ 2 กล่าวโทษอาหารหรือสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแบบเหมารวม

คุณอาจจะเคยเจอคำพูดประมาณว่า

“น้ำตาลคือยาพิษสีขาว”

“ไขมันเป็นสิ่งเลวร้าย”

“แป้งทำให้อ้วน”

ใครสักคนบนอินเตอร์เน็ต, อดีต-ปัจจุบัน

และคุณอาจจะเคยเจอการจัดประเภท “อาหารที่ดี” และ “อาหารที่แย่” ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่มีอาหารชนิดใดที่ดีหรือแย่ไปทั้งหมด เพียงแต่ต้องเลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม การจำกัดการกินอาหารที่มากเกินไป อาจสร้างพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม และนำไปสู่สุขภาพกายและใจที่แย่ลงได้ด้วยนะครับ

สัญญาณที่ 3 อ้างอิงงานวิจัยอย่างไม่เหมาะสม

คำถามที่ตามมา คือ แล้วการอ้างอิงที่ไม่เหมาะสมมันหน้าตาเป็นยังไง?
คำตอบ คือ เป็นแบบนี้ครับ

  • คำแนะนำแบบลวก ๆ ที่มาจากงานวิจัยที่ซับซ้อน ต้องบอกว่าผลของงานวิจัยจำนวนมาก ไม่สามารถนำมาใช้สร้างเป็นคำแนะนำแบบสั้น ๆ ได้ เป็นเพราะข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำวิจัย ดังนั้น ต้องพึงระวังข้อสรุปอะไรที่ดูเรียบง่ายและครอบคลุมไปหมดทุกเรื่องเอาไว้ให้ดี
  • คำแนะนำที่มาจากงานวิจัยเพียงงานเดียว ในแต่ละปีมักจะมีงานวิจัยที่เหมือนกับว่าจะค้นพบอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากความรู้เดิม ซึ่งการค้นพบเหล่านั้นอาจมาจากผลของการทดลองที่ผิดพลาดก็เป็นได้ ถ้าเจอข้อมูลใหม่ที่ฟังดูขัดแย้งกับความรู้ในปัจจุบันมาก แนะนำว่าควรนำไปปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารก่อนจะดีกว่า
  • คำแนะนำที่มาจากงานวิจัยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัยที่น่าเชื่อถือจะต้องผ่านระบบที่เรียกว่า Peer review ซึ่งเป็นการนำงานวิจัยไปให้ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ช่วยตรวจสอบว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้อาจจะสังเกตยากสักนิดหนึ่ง แนะนำว่าให้นำไปปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
  • คำแนะนำที่มาจากการทดลองในสัตว์หรือกลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าเราไม่ควรรีบปักใจเชื่อว่า อาหารที่ช่วยหนูลดน้ำหนักจะช่วยให้คนลดน้ำหนักได้คล้าย ๆ กัน และอาหารบางอย่างอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน เช่น อาหารที่ช่วยควบคุมน้ำหนักก็ดูไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็งที่น้ำหนักกำลังลดอยู่แล้ว 

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญานเตือนภัยที่ผมหวังว่าจะช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างมากมายบนอินเตอร์เน็ต การถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่มีคุณภาพ จะทำให้คุณสิ้นเปลืองเงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ หรือแย่กว่านั้น หากเป็นอาหารที่ต้องกินเข้าไปในร่างกาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจหมายถึงชีวิตอันมีค่าของเราก็เป็นได้ 

]]>
ภูมิต้านทานในการเสพสื่อ https://goodhopenutrition.com/articles/%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b8%a1%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%9e%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad/ Sat, 30 May 2020 04:05:18 +0000 https://goodhopenutrition.com/?p=341 Highlights
  • ในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพเป็นเรื่องง่าย แต่อัตราการเจ็บป่วยของประชาชนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ข้อมูลเหล่านี้มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และบางครั้งข้อมูลก็ดันขัดแย้งกันเองเสียอย่างนั้น ทำให้เกิดความสับสน
  • ทำไมข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน ถึงได้ขัดแย้งกันเอง จนสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปได้มากขนาดนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ตช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลอันมหาศาลได้อย่างง่ายดาย นำมาซึ่งการเติบโตของสิ่งต่าง ๆ มากมาย รวมถึงวงการสาธารณสุขด้วยเช่นกัน

การสื่อสารนโยบายสาธาณสุขและข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว เพียงกดโพสต์และตั้งค่าความเป็นสาธารณะ ประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ทันที

ถ้าการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลมันง่ายดายขนาดนั้น ก็เป็นไปได้ว่าสุขภาพโดยรวมของคนไทยก็น่าจะดีขึ้น การเจ็บป่วยก็น่าจะน้อยลงด้วย จริงมั้ย?

จะตอบคำถามนี้ได้ต้องย้อนกลับไปดูสถิติการเจ็บป่วย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างเป็นโรคมะเร็ง จะพบว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2551 มาจนถึง พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นจาก 156.7 คน เป็น 169.3 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน

แนวโน้มการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พบได้แค่ในประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลกก็เกิดปัญหานี้ไม่ต่างกัน สร้างความสงสัยให้กับนักวิจัยเป็นอย่างมาก

ต่อมาจึงมีนักวิจัยได้ทำการสำรวจความเห็นของคนอเมริกัน เพราะเป็นไปได้ว่าข้อมูลเหล่านี้อาจไม่สามารถส่งไปถึงประชาชนได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
แต่ผลสำรวจกลับพบว่า จริง ๆ แล้ว คนส่วนใหญ่รู้ดีว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น กินผักผลไม้น้อยไป กินเนื้อสัตว์สีแดงมากไป กินอาหารแปรรูปมากไป สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น แสดงว่าข้อมูลเหล่านี้ไปถึงประชาชนแล้ว แล้วปัญหามันอยู่ที่ตรงไหนกัน?

เมื่อทำการสอบถามไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มพบว่าประชาชนส่วนมากมักให้ความเห็นในทิศทางที่ว่า ข้อมูลพวกนี้มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และบางครั้งข้อมูลก็ดันขัดแย้งกันเองเสียอย่างนั้น ทำให้เกิดความสับสน และไม่นำไปสู่การปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน ถึงได้ขัดแย้งกันเอง จนสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปได้มากขนาดนี้

ปัญหาคือ “การสื่อสาร”

ถึงแม้ว่านักวิจัยจะมีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองศึกษาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถอธิบายข้อมูลเหล่านั้นให้คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ เป็นเพราะข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลเชิงลึก และมีคำศัพท์เฉพาะมากมาย
ดังนั้น การสื่อสารข้อมูลจึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง นั่นคือ “สื่อ” 

สื่อคอยรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ (เช่น จากงานวิจัย) มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเป็นอย่างมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อก็เป็นสิ่งที่สามารถกำหนดการรับรู้ของเราได้เช่นกัน โดยอาศัยการคัดเลือกข้อมูลทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพื่อมานำเสนอ

การนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สื่อจะทำการเฟ้นหาเรื่องราวอะไรก็ตามที่ดูแตกต่างไปจากปกติ ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างความสนใจให้กับคนทั่วไปได้

มีการศึกษาหนึ่งได้ทำการสำรวจการนำเสนอของสื่อเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 231 เรื่อง พบว่ามีเรื่องราวประมาณ 4% เท่านั้นที่บอกเล่าถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง อาจเป็นเพราะการนำเสนอปัจจัยเหล่านี้ดูไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไรนัก

อีกตัวอย่างเกิดขึ้นในปี 2017 มีนักวิจัยได้ตีพิมพ์งานวิจัยโดยให้ข้อสรุปว่า

“โอกาสเกิดของมะเร็งที่แตกต่างกันในแต่ละอวัยวะนั้น ราว ๆ 2 ใน 3 มาจากการกลายพันธุ์แบบสุ่ม”

ทันทีที่งานวิจัยนี้ได้เผยแพร่ออกไป มีสื่อบางที่ได้ตีความข้อมูลผิดไปอย่างมโหฬาร จนถึงขั้นนำเสนอออกมาว่า

“สาเหตุของการเป็นมะเร็งนั้นมาจากการสุ่ม”

หรือบางที่ก็นำเสนอว่า

“สาเหตุของการเป็นมะเร็งนั้น 2 ใน 3 มาจากการกลายพันธุ์”

ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างจากการค้นพบของนักวิจัยเหล่านี้โดยสิ้นเชิง จึงไม่แปลกที่ข้อมูลที่มาจากแหล่งเดียวกัน บางครั้งก็สามารถกลายพันธุ์จนเกิดความแตกต่าง หรือไปจนถึงขั้นขัดแย้งกันเองได้ 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษสื่อแต่อย่างใด เพราะผมเชื่อว่า ความผิดพลาดมักมาจากความไม่ตั้งใจทั้งนั้น แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว คนเสพสื่ออย่างเราควรมีการสร้าง “ภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อ” เป็นของตัวเอง เพื่อไม่ให้ความหลากหลายและความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเสียเอง


ที่มา

1. Kuhaprema T, Attasara P, Sriprung H, Wiangnon S, Sangrajang S. Cancer in Thailand. Bangkok: Ministry of Public Health; 2013.
2. Di Sebastiano KM, Murthy G, Campbell KL, Desroches S, Murphy RA. Nutrition and Cancer Prevention: Why is the Evidence Lost in Translation? Adv Nutr. 2019;10(3):410-8.

]]>
ดื่มนมทำให้มะเร็งโตเร็วขึ้นจริงหรือไม่ https://goodhopenutrition.com/articles/%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%95%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%a1/ Sun, 03 May 2020 07:25:23 +0000 https://goodhopenutrition.com/?p=281 นมและผลิตภัณฑ์จากนมถือเป็นแหล่งของแคลเซียมและโปรตีนที่ดี
ซึ่งมีความสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและการทำงานของกล้ามเนื้อ ประโยชน์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันมานานแล้ว แต่ว่างานวิจัยใหม่ ๆ
ได้จุดประเด็นถึงอันตรายจากนม ซึ่งอาจจะมากกว่าประโยชน์เสียอีก

สิ่งที่ทำให้นมกลายเป็นจุดสนใจในปัจจุบัน คือ การที่มันมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก

ย้อนความกลับไปเมื่อราว 20 ปีก่อน ในปี 2001 มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ชายชาวญี่ปุ่นมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 25 เท่า และยังเสียชีวิตด้วยอายุเฉลี่ยต่ำกว่าเดิม (ตายเร็วขึ้น)

หนึ่งปีต่อมา ในปี 2002 นักวิจัยกลุ่มเดิมก็เริ่มเห็นถึงความผิดปกติอีกครั้ง เมื่อพบว่าการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 55 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้ง 2 เหตุการณ์มีจุดเชื่อมโยงที่น่าสนใจ คือ อัตราการตายที่เพิ่มขึ้นตรงกับช่วงเวลาที่การกินอาหารของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น
มีการบริโภคเนื้อสัตว์และไข่มากขึ้น และจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ในปี 1959 รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดนโยบายนมโรงเรียนขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น จนส่งผลให้การบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากอดีตถึง 20 เท่า

เมื่อนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ก็พบว่า ยิ่งมีการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มขึ้นเท่าใด อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งทั้งสองชนิดในแต่ละปีก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หลังจากงานวิจัยทั้ง 2 ฉบับได้ตีพิมพ์ออกไป ทั่วโลกก็เกิดการตื่นตัวถึงประเด็นนี้มากขึ้น สะท้อนออกมาเป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับนมและโรคมะเร็งผุดตามออกมาเป็นดอกเห็ด พร้อมกับสรุปผลไปในทิศทางคล้าย ๆ กันว่า นมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทั้งสองชนิดนี้จริง ๆ

สิ่งที่ทำให้นมดูน่ากลัวนั้น มาจากการศึกษาที่พบว่า การดื่มนมจะไปเพิ่มฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Insulin-like growth factor-1 (IGF-1) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายมีการเจริญเติบโต แต่หากมีปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายเจริญเติบโตเกินความจำเป็น จนเป็นมะเร็งในที่สุด

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การผลิตนมในปัจจุบันมักมาจากวัวที่กำลังตั้งท้อง ซึ่งเป็นช่วงที่วัวมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) สูงมาก และฮอร์โมนนี้ก็ถูกส่งต่อมาในน้ำนม หากคนดื่มเข้าไปมาก ๆ ก็อาจไปกระตุ้นให้มะเร็งเต้านมชนิดที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนเกิดโตขึ้นมาได้

แต่ถึงอย่างนั้น ทำไมปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำให้เลิกดื่มนมอย่างเป็นทางการออกมาเสียทีล่ะ? ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรด้านสุขภาพและหน่วยงานของรัฐในหลาย ๆ ประเทศกลับมีนโยบายให้ประชากรของตนเองมีการดื่มนมทุกวันด้วยซ้ำ ส่วนประเทศไทยเองก็มีการให้คำแนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรดื่มนมวันละ 1-2 แก้วเช่นกัน

สาเหตุที่ยังไม่มีการจัดตั้งเป็นข้อสรุปให้เลิกดื่มนมนั้น เป็นเพราะว่างานวิจัยเหล่านี้ยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะนำมากำหนดเป็นนโยบายระดับโลกหรือแม้กระทั่งระดับชาติ

งานวิจัยเหล่านี้มักเป็นงานวิจัยที่นำกลุ่มคนที่ดื่มนมเยอะกับกลุ่มที่ดื่มนมน้อยมาเปรียบเทียบกัน แล้ววัดผลว่ากลุ่มไหนมีการป่วยเป็นมะเร็งมากกว่ากัน ซึ่งผลก็อย่างที่กล่าวไป กลุ่มที่ดื่มนมเยอะดูมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคมากกว่า

ปัญหา คือ ปัจจัยของการเกิดมะเร็งไม่ได้มีแค่เรื่องของการดื่มนมเยอะหรือน้อยเพียงอย่างเดียว มีงานวิจัยพบว่า คนที่ดื่มนมเยอะมีแนวโน้มที่จะบริโภคเนื้อสัตว์สีแดงเยอะตามไปด้วย ซึ่งเนื้อสัตว์สีแดงนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณการดื่มนมมักเกิดจากการสอบถามโดยให้แต่ละคนนึกย้อนกลับไปว่า ภายในช่วงเวลาที่ผ่านมา (อาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) มีการดื่มนมประมาณกี่ครั้ง ปริมาณเท่าไรบ้าง เพื่อคำนวณปริมาณการบริโภคโดยเฉลี่ย จึงทำให้ข้อมูลที่ได้รับอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะแค่ลองนึกว่าเมื่อวานกินอะไรไปบ้าง บางทีอาจยังนึกไม่ออกด้วยซ้ำ

งานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อลดข้อจำกัดเหล่านี้ เริ่มพบแนวโน้มว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ลดลง หรือแม้กระทั่งมีบางงานวิจัยกลับไม่พบว่ามันสัมพันธ์กัน ไปจนถึงอาจจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย

ด้วยหลักฐานในปัจจุบัน ทางกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund) ได้ให้คำแนะนำออกมาว่า นมอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน แต่ทั้งนี้ หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังน้อยและขัดแย้งกันเองเป็นส่วนมาก

สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง การดื่มนมจะทำให้เนื้องอกโตขึ้นหรือไม่นั้น “ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ” หากใครชอบดื่มนม ก็สามารถดื่มต่อไปได้ เพราะนมก็ยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์อยู่ดี แต่หากใครไม่ชอบหรือดื่มแล้วไม่สบายใจ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นดื่มนมถั่วเหลือง หรืออาหารทางการแพทย์แทน ก็จะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เช่นเดียวกัน


References

1. Ganmaa D, et al. Incidence and mortality of testicular and prostatic cancers in relation to world dietary practices. Int J Cancer. 2002;98(2):262-7.
2. Li XM, et al. The experience of Japan as a clue to the etiology of breast and ovarian cancers: relationship between death from both malignancies and dietary practices. Med Hypotheses. 2003;60(2):268-75.
3. Lopez-Plaza B, et al. Milk and Dairy Product Consumption and Prostate Cancer Risk and Mortality: An Overview of Systematic Reviews and Meta-analyses. Adv Nutr. 2019;10(suppl_2):S212-S23.

]]>
อาหารแช่แข็งปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการไหม https://goodhopenutrition.com/articles/%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b9%81%e0%b8%82%e0%b9%87%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%a0%e0%b8%b1%e0%b8%a2/ Mon, 27 Apr 2020 01:49:13 +0000 https://goodhopenutrition.com/?p=232

อาหารแช่แข็ง ชื่อนี้ยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยว่ามันดีหรือไม่ดียังไงด้วยความที่อาหารแช่แข็งต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “การถนอมอาหาร” จึงไม่แปลกที่หลายคนจะมีความกังวลต่ออาหารชนิดนี้ แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว อาหารแช่แข็งจะเป็นอันตรายอย่างที่คิดจริงมั้ย?

ประเด็นที่อยากชวนให้พิจารณามีด้วยกัน 2 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นที่ 1 ความปลอดภัยด้านอาหาร

อาหารทุกอย่างจะมีการเสื่อมสภาพจากจุลินทรีย์เหมือนกัน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่อาหารสดจะเป็นแบบซื้อมาแล้วก็ทำกินเลย
เชื้อจุลินทรีย์จึงไม่ทันได้เพิ่มจำนวน และถูกความร้อนจากการทำอาหารกำจัดไปซะก่อน 

ส่วนอาหารแช่แข็งจะผ่านกระบวนการแช่เยือกแข็งเพื่อ “ชะลอ” การเติบโตของจุลินทรีย์ หมายความว่า เชื้อยังไม่ตายนะ แต่โตช้าลง จนสามารถเก็บรักษาได้นานเป็นเดือน ๆ ดังนั้น อาหารแช่แข็งเหล่านี้จึง
“ไม่จำเป็นต้องใส่วัตถุกันเสีย”

การแช่เยือกแข็งเป็นการถนอมอาหารด้วยความเย็น จึงไม่จำเป็นต้องใส่วัตถุกันเสียเข้าไปอีก

แต่มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน โดยเราไม่แนะนำให้นำอาหารที่ละลายน้ำแข็งแล้วกลับไปแช่แข็งใหม่ เพราะจะทำให้เชื้อสามารถเพิ่มจำนวนกลับขึ้นมาได้ ทางที่ดี คือ แบ่งมาละลายตามปริมาณที่จะทำอาหารก็พอ

ดังนั้น ในด้านความปลอดภัย อาหารสดหรืออาหารแช่แข็ง หากมีกรรมวิธีการผลิตอย่างเหมาะสมก็ปลอดภัยเหมือนกันทั้งคู่ 

ประเด็นที่ 2 คุณค่าทางโภชนาการ

ของสดย่อมมีสารอาหารมากกว่าของแช่แข็งอยู่แล้ว ถ้ากำลังคิดแบบนี้อยู่ อาจต้องคิดใหม่ซะแล้ว

การแช่เยือกแข็งจะช่วยกักเก็บสารอาหารไม่ให้สูญเสียไปกับแสงและความร้อน

อาหารทุกชนิดจะมีการสูญเสียวิตามินอยู่ตลอดเวลาจากการโดนแสงและความร้อน กว่าจะมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเรา สารอาหารเหล่านั้นก็อาจจะลดลงไปมากแล้ว แต่การแช่เยือกแข็งจะชะลอการสูญเสียวิตามินในทันที และยังมีงานวิจัยพบว่า ผลไม้แช่แข็งมีวิตามินมากกว่าผลไม้สดที่ตั้งขายไว้นานแล้วซะอีก

โดยปกติวิตามินหลาย ๆ ตัว เช่น วิตามินซี วิตามินบี จะสลายตัวเมื่อโดนความร้อน และหากยิ่งโดนความร้อนเป็นเวลานานด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้วิตามินลดลงไปอีก แต่กลับมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การใช้ไมโครเวฟแทบจะไม่ทำลายวิตามินเหล่านี้เลย เพราะเป็นการทำให้อาหารร้อนขึ้นจากการสั่นของโมเลกุลของน้ำในอาหาร โดยใช้ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ จึงทำให้วิตามินไม่ถูกทำลายไปมากนัก 

สรุป ไม่ว่าจะอาหารแช่แข็งหรืออาหารสดล้วนดีทั้งนั้น ขอแค่ให้เลือกซื้อจากร้านค้าหรือผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ ดูแลความสะอาดในขั้นตอนการปรุงอาหารให้ดี และหากต้องการซื้อมาเก็บในปริมาณมาก อาหารแช่แข็งถือว่า เข้าท่า!


Reference

Sun DW. Handbook of Frozen Food Processing and Packaging. 1st ed. Boca Raton; 2005. Chapter 21: Quality and Safety of Frozen Ready Meals; p. 459-479.

]]>
กักตัวไม่กักตุน! อาหารยอดฮิตในช่วงโควิด สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ตอนที่ 1 https://goodhopenutrition.com/articles/%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a2%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%ae%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%94/ Mon, 20 Apr 2020 09:52:06 +0000 https://goodhopenutrition.com/?p=117 “โควิดก็น่ากลัว โรคประจำตัวก็น่าห่วง”

ถึงแม้ว่าช่วงนี้ หลายคนจะเป็นกังวลกับโควิดเป็นอย่างมาก แต่อย่าลืมว่า โรคประจำตัวที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกพักงานแต่อย่างใด ยังคง work from home อย่างขะมักเขม้น

และยิ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาอยู่ด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีการดูแลด้านโภชนาการเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ครบตามแผนที่หมอวางเอาไว้ และช่วยลดอาการแทรกซ้อนจากการรักษาได้อีกด้วย

ดังนั้น ในฐานะอีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์อย่างนักกำหนดอาหาร จะขออาสาช่วยสรุป “อาหารยอดฮิตในช่วงกักตัว” ที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง โดยเราจะเน้นไปที่อาหารที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในช่วงนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโภชนาการที่ดีอยู่เสมอ จะมีอาหารอะไรที่จัดว่า “เข้าท่า” และอาหารอะไรที่กินแล้ว “น่าห่วง” ไปดูกันเลย

1) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

อาหารยอดฮิตทุกวิกฤตประเทศ เพราะมีราคาถูก ทำกินเองง่าย และเก็บรักษาได้นาน แต่ถ้าพูดถึงคุณค่าทางอาหารนั้น บอกตามตรงคือน้อยมาก ด้วยความที่ตัวมันไม่มีอะไรนอกจากเส้นบะหมี่ ที่ผ่านกระบวนการขัดสีจนสารอาหารเหลือน้อย จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง ปิดท้ายด้วยผงปรุงรส หรือผงชูรส ดังนั้น สารอาหารทั้งหมดจึงมีแค่คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโซเดียม (ที่สูงมาก) แค่นี้จริง ๆ

แต่เดี๋ยวก่อน! เราพอจะสามารถเพิ่มคุณค่าให้มันได้ โดยการเติมเนื้อสัตว์หรือไข่ และใส่ผักลงไป ก็จะทำให้ได้รับโปรตีน ใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่ เพิ่มมากขึ้น ร่วมกับการใส่ผงปรุงรสให้น้อยลงหรืออย่าซดน้ำจนหมด เพื่อลดโซเดียมลง แค่นี้ก็ทำให้คุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้นแล้ว

สรุป ถ้ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียว คำตอบ คือ น่าห่วง แต่ถ้าเติมเนื้อสัตว์และผัก และลดโซเดียม คำตอบ คือ พอจะเข้าท่า (แต่ไม่ควรกินบ่อยอยู่ดี)

2) ไข่ไก่

อีกหนึ่งอาหารราคาแพง เอ้ย! ถูก ซึ่งผู้ป่วยหลายท่านน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในไข่ขาวนั้นมีกรดอะมิโนจำเป็น (โปรตีน) ครบถ้วน แถมยังย่อยได้ง่าย ส่วนไข่แดงนั้นอุดมไปด้วยไขมัน วิตามิน และเกลือแร่มากมาย จึงไม่แปลกที่หมอหลาย ๆ ท่านจะแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งกินไข่กัน

แต่อีกสิ่งที่ผู้ป่วยมักเป็นกังวลคือ ไข่มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งปัจจุบันมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า

“การกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะกินไข่วันละกี่ฟองก็ได้นะ เพราะข้อสรุปดังกล่าวมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการกินไข่น้อยกว่าไทย และยังไม่มีหลักฐานบอกว่าการกินไข่หลาย ๆ ฟองเป็นเวลานาน ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดยังไงบ้าง

แต่ที่ส่งผลแน่ ๆ คือ วิธีการปรุง โดยเฉพาะการใช้น้ำมันทอด ควรเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง และควรหลีกเลี่ยงน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เพราะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

สรุป ถ้าเป็นไข่แดง กินแค่วันละ 1-2 ฟองก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเป็นไข่ขาวสามารถกินได้เท่าที่ต้องการ เพราะมีคอเลสเตอรอลน้อยมาก และอุดมไปด้วยโปรตีน และควรเลือกใช้น้ำมันในการทอดให้ถูกชนิด ถ้าทำได้ตามนี้บอกเลยว่า กินไข่ ยังไงก็ เข้าท่า!

3) ปลากระป๋อง

เหมือนกับการรีวิวถุงยังชีพเข้าไปทุกที ก่อนอื่นต้องบอกว่าปลากระป๋องเป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนที่คุณภาพดีไม่แพ้กัน เพราะปลากระป๋อง 1 กระป๋องให้โปรตีนประมาณ 15-20 กรัม หรือเทียบกับไข่ประมาณ 2-3 ฟอง

แต่เห็นเป็นปลากระป๋องอย่าได้คิดชะล่าใจ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องระวังอยู่บ้าง โดยหากเป็น

ปลากระป๋องมีหลายแบบ แบบไหนเป็นยังไงบ้างนะ

– ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ พวกนี้มักมีโซเดียมสูง ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้

– ปลากระป๋องในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน พวกนี้เป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งจัดเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าซดหมดก็ไม่ดี (ใครจะไปทำ!)

– ปลากระป๋องในน้ำเกลือ แน่นอนว่า เกลือ = โซเดียม ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดโปรดระวัง และหลีกเลี่ยงการซดน้ำเกลือหมดกระป๋อง (ซึ่งไม่น่ามีคนทำเช่นกัน)

– ปลากระป๋องในน้ำแร่ ไม่มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษ แต่ถ้าจะเอาไปปรุงอาหารที่ใช้น้ำมัน ให้ระวังน้ำมันกระเด็น

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ อาจมีก้อนเนื้อขวางหรือได้รับการฉายแสงบริเวณคอ ส่งผลให้มีอาการกลืนลำบากได้ จึงต้องระวังก้างปลาให้ดี เพราะอาจเกิดอาการสำลัก หรือก้างปลาติดคอ และถ้าอาหารลงปอด อาจทำให้ปอดอักเสบได้

สรุป ปลากระป๋องเป็นอาหารที่ เข้าท่า แต่พยายามอย่ากินซอสเยอะ

สำหรับตอนแรกขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อน แต่ขอบอกว่ายังมีอาหารอีกหลายอย่าง ในตอนหน้าจะมีอาหารอะไรมาพูดคุยให้ฟัง รอติดตามกันได้เลยครับ

]]>