Categories
เมนูอาหารโรคมะเร็ง

ข้าวต้มปลากะพงเต้าหู้ไข่

เมนูสำหรับผู้ป่วยมะเร็งวันนี้ เป็นเมนูที่รับประทานง่ายและย่อยง่าย เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคี้ยวและการกลืน มีอาการเจ็บปาก หรือน้ำลายแห้งจากการฉายแสง และยังเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเหม็นเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ด้วยค่ะ

พลังงานโปรตีนคาร์บไขมัน
490 kcal30 g57 g16 g
คุณค่าทางโภชนาการสำหรับรับประทาน 1 ที่

ส่วนผสม (Ingredients)

  1. ข้าวสวย 1 ถ้วย
  2. เนื้อปลากะพง 80 กรัม
  3. เต้าหู้ไข่ 1 หลอด
  4. น้ำซุปกระดูกหมูหรือไก่ 1 ลิตร
  5. รากผักชี 1 ต้น
  6. ตะไคร้ 2 ต้น
  7. ข่าอ่อน 1 แง่ง
  8. ซีอิ้วขาว 1 ชต.
  9. น้ำตาลทราย
  10. พริกไทย ¼ ช้อนชา
  11. ผักโรยตามชอบ (ผักขึ้นฉ่าย ต้นหอม และผักชี หั่นหยาบๆ)
  12. กระเทียมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีการทำ​ (Preparation)

  1. ล้างผักต่าง ๆ ให้สะอาด นำข่าหั่นข่าเป็นแว่น หั่นตะไคร้เป็นท่อน และทุบให้พอแหลก
  2. เทน้ำซุปใส่หม้อ ตั้งไฟกลาง ใส่ ข่า ตะไคร้ และรากผักชีที่เตรียมไว้
  3. เมื่อน้ำซุปเริ่มเดือด ใส่เนื้อปลากะพงลงไป ต้มจนเนื้อปลาสุกดีแล้วตักขึ้น พักไว้
  4. ตักข่า ตะไคร้ และรากผักชีออก ตักฟองที่อยู่ในน้ำซุป ยกลง แล้วกรองน้ำซุปด้วยกระชอน
  5. นำน้ำซุปที่กรองแล้ว มาตั้งไฟอีกครั้งให้เดือด จากนั้นเทข้าวสวยลงไปในหม้อ
  6. ต้มจนข้าวเริ่มนิ่มขึ้น ใส่ผักชี ขึ้นฉ่าย และต้นหอมลงไป
  7. หั่นเต้าหู้ไข่ และใส่ลงในหม้อ ต้มจนเต้าหู้สุก
  8. ปรุงรสด้วย ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย และพริกไทยตามชอบ ยกลงตักใส่ถ้วย
  9. ตักเนื้อปลาที่ต้มไว้ลงในถ้วยข้าวต้ม ราดด้วยน้ำมันกระเทียมเจียว จัดเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มเต้าเจี้ยว

เมนูนี้มีดีอะไร

ปลากะพงมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ทั้ง DHA และ EPA ซึ่งจัดเป็นสารอาหารที่มีรายงานว่ามีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย (Immunonutrition) ช่วยลดการอักเสบ และยังช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อของผู้ป่วยมะเร็งได้ด้วยนะคะ (1)

ปริมาณกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่ได้รับจากเมนูนี้

DHAEPA
340 mg120 mg

เมนูข้าวต้มปลากะพงเต้าหู้ไข่ เป็นเมนูที่สามารถทำทานได้ง่าย ให้พลังงานและโปรตีนสูง ซึ่งให้โปรตีนเทียบเท่ากับการรับประทานไข่ขาวถึง 8 ฟอง และยังมีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิดอีกด้วยค่ะ

สารอาหารปริมาณ*%Thai RDI
วิตามินบี 20.3 mg26%
วิตามินบี 33.9 mg28%
วิตามินเอ125 mcg20%
ฟอสฟอรัส293 mg42%
เหล็ก2.9 mg12%
ทองแดง1.4 mg20%
สังกะสี1.4 mg20%
ซีลีเนียม9.6 mcg18%
* ปริมาณต่อ 1 ที่
Thai Recommended Daily Intakes

ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ โดยควรรับประทานพลังงาน และโปรตีนให้เพียงพอ เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อและภาวะโภชนาการให้เพียงพอ เพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งค่ะ

By ญาณิศา พุ่มสุทัศน์

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย